น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีหลายฝ่ายยังกังวลเรื่องนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่
หลังจากหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน เนื่องจากได้กระทบ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมว่า พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า จะดำเนินนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อไปอย่างแน่นอน เนื่องจากสถิติค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมาไม่ได้ปรับขึ้น ในขณะที่ค่าครองชีพกลับปรับสูงขึ้น จึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะดูผลกระทบทั้งหมด และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทในภาคเอกชนต่าง ๆ ว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไร และช่วยกันปรับเปลี่ยนกันอย่างไร
“ตอนนี้สิ่งสำคัญต้องมาคุยกันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยคงไม่เดินหน้าทำโดยไม่คำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนกรณีหลายฝ่าย แสดงความไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น ทางทีมเศรษฐกิจของพรรคคงจะดูแลอยู่ ช่วงนี้อยู่ในขั้นตอนการเข้าไปหารือในแต่ละภาคส่วนเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นวันนี้จึงยังไม่สามารถไปพูดหรือกำหนดได้เลยว่าจะทำเมื่อไหร่ โดยมั่นใจว่านโยบายพรรคที่หาเสียงไว้จะทำได้จริง เพราะเราได้คำนวณและศึกษามาแล้ว ส่วนการที่จะทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเป็นบางจังหวัดหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ คงต้องดูในรายละเอียด เพราะมีหลายแนวทาง ”
ยิ่งลักษณ์ลุยค่าแรง300บาทมั่นใจนโยบายหาเสียงทำได้
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), หอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย มีมติไม่เห็นด้วยกับการปรับขั้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศทันที เพราะจะกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 90% ที่ไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ รวมถึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเลี่ยงไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านแทนส่งผลให้เงินลงทุนจากต่างประเทศลดลงปีละ 100,000 ล้านบาท หรือลดลง 25% จากปกติที่มีเข้ามาลงทุนแต่ละปีเฉลี่ยที่ 400,000 ล้านบาท
“สาเหตุที่ต่างชาติต้องเลี่ยงไปลงทุนเพื่อนบ้านแทน เพราะต้นทุนการผลิตในไทยสูงขึ้นส่งผลต่อราคาสินค้าที่ผลิตในไทยเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดโลก ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำได้แต่ควรทำในระดับที่เหมาะสมและสมดุล ให้ทั้งแรงงาน ภาคธุรกิจ และประเทศชาติอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะปรับตัวตามไม่ทัน หากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีปัญหา
ก็จะกระทบต่อเป็นลูกโซ่และในระยะยาวก็จะทำให้ขีดความสามารถของไทยลดลง”
อย่างไรก็ตามในระยะยาวขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง ก็จะทำให้โอกาสการเจริญเติบโตของประเทศลดน้อยลงไปด้วย เพราะนักลงทุนคงไม่อยากรับภาระที่เพิ่มขึ้นและการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 นี้ ก็จะทำให้นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งกับไทยอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซียและลาวแซงหน้าไทยได้
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มีความเห็นร่วมกันว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน สุดท้ายจะกระทบกับประชาชน
ดังนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และยังยืนยันที่ไม่เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่ควรเป็นไปตามกลไกตลาดและตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่ง กกร.พร้อมหารือกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางให้นโยบายนี้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย หลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่ได้เข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการ
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคมไทย แต่ธุรกิจมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก หากปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันจะมีผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ ไม่เท่ากัน ดังนั้นการขึ้นค่าแรงต้องมีมาตรการที่รองรับอย่างเหมาะสม.