เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ทีมสัตวแพทย์โครงการวิจัยและจัดแสดงแพนดาในประเทศไทย
นำโดย สพญ.กรรณิการ์ นิ่มตระกูล นำตัวหลินฮุ่ย แพนดาเพศเมียอายุ 9 ปี อัลตราซาวด์เพื่อตรวจหาตัวอ่อนในผนังมดลูกเป็นครั้งที่ 4 หลังการผสมเทียมไปเมื่อวันที่ 24-25 เมษายนที่ผ่านมา โดยใช้เวลาตรวจนานกว่า 1 ชั่วโมง ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลินฮุ่ย
นายประเสริฐศักดิ์ บุุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ความคืบหน้าการติดตามการตั้งท้องของหลินฮุ่ยเข้าสู่ 79 วัน
หลังการผสมเทียม โดย 2 วันที่ผ่านมาหลังการอัลตราซาวด์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าในวันที่ 10-11 กรกฎาคม ทีมวิจัยตรวจพบหลินฮุ่ยมีการเพิ่มระดับฮอร์โมนจาก 47 นาโนกรัม ขึ้นมาเป็น 188 นาโนกรัม และ 152 นาโนกรัม ตามลำดับ ถือว่าระดับฮอร์โมนยังทำงานอยู่ นับเป็นเรื่องที่ดี วันนี้จึงทำอัลตราซาวด์ซ้ำตามแผนตรวจหาตัวอ่อนทุกวันอังคารและวันศุกร์จนกว่าหลินฮุ่ยจะคลอด หรือสรุปผลในทางใดทางหนึ่ง
สพญ.กรรณิการ์กล่าวว่า ล่าสุด ระดับฮอร์โมนลดลงใกล้ระดับภาวะการคลอดหรือท้องเทียม
แต่ปรากฏว่า 2 วันนี้ฮอร์โมนกลับเพิ่มขึ้น จากข้อมูลที่เก็บมีไม่เหมือนกัน ตอนที่คลอดหลินปิงระดับฮอร์โมนลดและเพิ่มคล้ายๆ กัน แต่ 2 วันนี้ฮอร์โมนอยู่คนละระดับ ทำให้คาดเดาได้ยาก การอัลตราซาวด์วันนี้พี่เลี้ยงโกนขนเพิ่มเล็กน้อยเพื่อหาความชัดเจน แต่ไม่สามารถหาโครงสร้างถุงน้ำ พบเพียงโพรงมดลูกโป่งพอง วันนี้ผลอัลตราซาวด์ไม่ดี ต้องทำต่อไปเพราะยังไม่สิ้นสุดระยะการตั้งท้อง
"ขณะที่พฤติกรรมการเลียอวัยวะเพศของหลินฮุ่ยยังมีอยู่ 1 ครั้งต่อวัน โดยในช่วง 2-3 วันที่ฮอร์โมนลดลง หลินฮุ่ยเดินกระวนกระวาย สลับกับกินบ้างแต่ไม่นั่งนาน วันนี้จึงปล่อยให้ลงไปเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง หากมีความผิดปกติก็จะเก็บตัวทันที" สพญ.กรรณิการ์กล่าว และว่า ระหว่างการตรวจหาตัวอ่อนและติดตามระดับฮอร์โมนหลินฮุ่ย ได้หารือไปยัง ดร.เจมิน บาวน์ ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันตลอดเวลาที่ท่านเดินทางมาเมืองไทยในช่วงนี้ ควบคู่ไปกับผู้เชี่ยวชาญจีน แต่เรื่องการตั้งท้องของแพนดาไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ทีมวิจัยก็ข้องใจ ก็ต้องลุ้นกันต่อไปเพราะอาจหาตัวอ่อนไม่พบจนคลอดก็ได้ เนื่องจากระยะเวลาตั้งท้องของแพนดามีตั้งแต่ 83 วัน-11 เดือน ไม่แน่นอน