ปัจจุบันระบบไอซีทีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทยมากขึ้น ครูไทยก็เหมือนว่าจะลดบทบาทลงไปทุกทีๆ ครูอาชีพ กับ อาชีพครู ดูๆแล้วไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก เพียงแค่เปลี่ยนพยางค์จากหน้ามาไว้หลัง แต่เมื่อประเทศกำลังปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นล่ะ จะแทนกันได้ไหม ?
เริ่มต้นจาก ครูผู้นำระบบไอซีทีมาจัดการเรียนรู้ในเชิงบูรณาการ พูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล อาจารย์ประจำวิชาคอมพ์พิวเตอร์ ร.ร.สตรีศรีสุริโยทัย เจ้าของเว็บไซต์การศึกษา thaigoodview.com ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดตลอดระยะเวลา 7 ปี ครูผู้ได้รับรางวัล Thailand Innovative Teachers Leadership Award 2004 และ 2006
ที่ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีต้องนำมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ ปัญหาของทุกโรงเรียนในปัจจุบันเป็นเหมือนกันหมด คือมีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอร์ฟแวร์ แต่ไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงได้อย่างไร และไม่ใช่เพียงแต่จะคิดว่าคอมพ์พิวเตอร์เพียงพอกับจำนวนเด็กนักเรียนหรือไม่ ได้ใช้คอมพ์พิวเตอร์เครื่องต่อเครื่องหรือเปล่า
ครูไทย...แทนไม่ได้ด้วย...ไอที
คอมพ์พิวเตอร์ไม่ใช่ครู เด็กอาจจะใช้คอมพ์แทนครู แต่คอมพ์เป็นแค่เพียงเพิ่มศักยภาพเท่านั้น คือเป็นแหล่งค้นหาข้อมูล การเรียนไม่มีคำว่าแบบเก่าแบบใหม่ และครูยังก็คือครู ยังมีความเอื้ออาทร ดูแล เอาใจใส่เด็กนักเรียนเหมือนลูกเหมือนหลานเหมือนแต่ก่อน"
ครูพูนศักดิ์บอกด้วยว่า
ขณะนี้ในประเทศยังขาดแคลนคนที่สามารถทำงานเป็นกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างง่ายๆ นักเทนนิสที่สร้างชื่อให้ประเทศไทยในการแข่งขันเทนนิส กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ คนใหม่ก็ลงแข่งประเภทเดี่ยว ดูประสบความสำเร็จ แต่เมื่อย้อนถามว่าแล้วทำไมทีมชาติไทยถึงไม่ได้เหรียญทองบ้าง คำตอบคือคนไทยขาดการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเมื่อเราเป็นครู เราต้องต้องเป็นคนที่ดึงเด็กมาทำงานให้เป็นกลุ่ม
เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการพัฒนาอย่าใช้เทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงสังคมถึงแม้ว่าเทคโนโลยีบางอย่างก็แย่ มีทั้งสื่อลามก เกม สังคม สื่อ และผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช่โยนภาระให้ทางโรงเรียนหรือครูแต่เพียงอย่างเดียวครูพูนศักดิ์สรุป
กิติมา เพชรทรัพย์
อาจารย์ประจำวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ร.ร.สุราษฎร์พิทยา ผู้ซึ่งนำระบบไอทีมาเน้นที่สื่อการสอนบอกว่า การนำระบบไอซีทีมาใช้ในการเรียนการสอน ก็เพื่อช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการอีกทั้งยังสารมารถอัพเดทข้อมูลได้ตลอดเวลา ซึ่งสื่อการสอนนี้เรียกว่า สื่อโฮมเพจ รายวิชา ซึ่งในโฮมเพจนี้มีทั้งแผนการสอน คำถามก่อนเรียน-หลังเรียน ผลงานนักเรียน และแบบประเมิน ซึ่งมีประโยชน์กับนักเรียนไทยมากขึ้นคือเด็กนักเรียนสามารถเข้าไปอ่านหรือทำซ้ำได้ และสามารถรู้ล่วงหน้าว่าตนได้เรียนเรื่องอะไรต่อไป
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนมีวิสัยทัศน์ว่า นักเรียนทุกคนในโรงเรียนจะได้เรียนคอมพ์พิวเตอร์ในทุกๆปีการศึกษา โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือให้งบประมาณจัดซื้อคอมพ์พิวเตอร์ถึง 300 เครื่อง ส่วนนักเรียนที่บ้านของตนเองไม่มีคอมพ์พิวเตอร์ใช้ ทางโรงเรียนจะเปิดให้ใช้คอมพ์พิวเตอร์จนถึง 5 โมงเย็น
การเรียนด้วยระบบไอซีทีที่นี่เราเริ่มต้นตั้งแต่ ชั้นม.1 ก็สอนทำเว็บไซต์ส่วนตัวแล้ว จาก Microsoft Word พอ ม.2 ก็เริ่มเรียนการทำเว็บไซต์ จาก Microsoft Exel ม.3 ก็เรียนโปรแกรมกราฟิกต่างๆ เป็นลำดับขั้น ส่วนชั้น ม.4-ม.6 นั้นก็สอนกันในเรื่องของการเขียนโปรแกรมในรูปแบบภาษาต่างๆ ซึ่งผลงานทั้งหมดของนักเรียนที่ทำกันจะอยู่ในสื่อโฮมเพจ รายวิชานี้ด้วย
ด้าน ครูผู้ได้รับรางวัลนี้อีกท่านหนึ่ง ดรุณี อุมากรณ์ อาจารย์ประจำวิชาสารสนเทศ โรงเรียนบ้านขามเปี้ย โดยนำระบบไอทีมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวว่า ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนชนบท มีเครื่องคอมพ์พิวเตอร์เพียง 10 เครื่อง และใช้ได้เพียง 6 เครื่องเท่านั้นก็ตาม แต่เด็กนักเรียนทั้งโรงเรียนให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก
ครูเป็นครูชนบท ตัวครูเองต้องเห็นความสำคัญของไอทีก่อน แล้วจึงหยิบยื่นโอกาสเหล่านี้ให้เด็ก เพราะเด็กควรต้องมีโอกาส จะขาดโอกาสไม่ได้ ซึ่งนี่คือหน้าที่ครู
กิตติพันธ์ อุดมเศรษฐ์ อาจารย์ประจำวิชาศิลปะ
โรงเรียนปริ๊นซ์รอแยลส์วิทยาลัย ผู้เล็งเห็นความสำคัญของระบบไอทีโดยนำมาปรับใช้กับการเรียนการสอนวิชาศิลปะได้อย่างลงตัว โดยจัดทำเว็บไซต์เกี่ยวกับศิลปะเพื่อการศึกษา สำหรับนักเรียนในโรงเรียนได้เข้าไปอ่านเนื้อหาของวิชาเรียนได้ตลอดเวลา ตลอดจนนำเสนอผลงานของนักเรียนไว้ในเว็บไซต์นี้ด้วย ที่นำระบบไอทีมาใช้ในการเรียนการสอนนั้นก็เพราะว่าวิชาศิลปะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด และสามารถนำมาใช้ในการทำงานกราฟิกได้อีกด้วย ซึ่งเด็กนักเรียนให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก
แต่ครูกับนักเรียนก็ยังมีความสัมพันธ์กันเหมือนเดิมเพียงแต่คอมพ์พิวเตอร์เป็นเหมือนครูผู้ช่วยเท่านั้น
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: ผู้จัดการออนไลน์