กวดวิชาสุดบูม ผุดใหม่4,000แห่ง


เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ได้ลงพื้นที่ตรวจโรงเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ   พบสถิติที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษา (สช.) มีจำนวนมากขึ้นทุกปี โดยที่ผ่านมา ยอดโรงเรียนกวดวิชามีเพียงปีละ 1,000 กว่าโรงเท่านั้น แต่ในปี 2554 นี้ มีเพิ่มไปจนถึง 4,000 กว่าโรง หรือมีมากขึ้นปีละ 10% โดยเฉพาะในกรุงเทพฯก็ประมาณ 1,600 โรง

นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ  เลขาธิการ กช.  เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาขยายตัวอย่างรวดเร็วว่า ส่วนใหญ่น่าจะมาจากผู้ปกครองอยากให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ต้องการให้เด็กเรียนในหลักสูตรที่โรงเรียนธรรมดาไม่มี และต้องให้เด็กการสอบเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือมหาวิทยาลัยได้

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า วิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่มีค่าเล่าเรียนต่อชั่วโมงแพงที่สุด เฉลี่ยชั่วโมงละ 200 บาท รองมาเป็นวิชาคณิตศาสตร์ เฉลี่ยชั่วโมงละ 100 บาท
     

เลขาธิการ กช.กล่าวว่า  ได้กำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่ กลุ่มโรงเรียนเอกชนโรงเรียน ให้ดูแลกวดขันโรงเรียนกวดวิชาในจังหวัดต่างๆ เรื่องระบบประกันคุณภาพภายใน อาทิ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง โดยต้องมีครู ห้องเรียน และหลักสูตรที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งในเดือน ก.ย.นี้ สช.ยังได้นัดหมายกับโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศให้ส่งอัตราผลประกอบการกลับมา เพื่อจะตรวจสอบว่ามีโรงเรียนไหนไม่ทำตามระเบียบ สช.บ้าง ที่ไม่ให้มีผลกำไรประจำปีรวม 20% ซึ่งหากมีผลกำไรเกินตามที่กำหนด กรมสรรพากรคงจะมีแนวทางดำเนินการด้านภาษีเอง อย่างไรก็ตาม หากโรงเรียนกวดวิชาใดไม่ส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้ สช.ภายใน 3 ปี ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป
       

 “การลงพื้นที่ตรวจโรงเรียนกวดวิชาในภาพรวม จ.กรุงเทพฯ ผ่านไปด้วยดี เพราะโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ ทำตามกฎของ สช.ทุกอย่าง อาทิ ติดป้ายราคาวิชาที่จะเรียน ติดใบอนุญาตหน้าโรงเรียนกวดวิชา ทั้งนี้ ผมก็อยากยืนยันว่า การที่เด็กนักเรียนแห่ไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชามากขึ้นเป็นแสนคนนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนที่เรียนอยู่นั้นไม่มีคุณภาพ หรือมาตรฐาน แต่เป็นเพราะผู้ปกครองอยากให้เด็กนักเรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่างหาก”

ศาสตราจารย์ศรีราชา  เจริญพานิช   อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  สภาการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า  การสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งบ้านเราล้มเหลวมาโดยตลอด เรียนมา 12 ปีจบแล้วยังพูดไม่คล่อง อ่านเขียนลำบากไม่เข้าใจไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เพราะว่าครูที่มาสอนวิชาภาษาอังกฤษส่วนมากก็จะไม่รู้ภาษาอังกฤษดีพอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกสำเนียง การสะกด หรือแม้กระทั่งไวยากรณ์ และสอนกันมาแบบนี้โดยตลอด

  

ทางที่ดีอาจจะเชิญครูที่เป็นชาวต่างชาติเจ้าของภาษาที่มีความรู้จริงสักจำนวนหนึ่งสอนแทนด้วยวิธีลงเทป ลงวีดีโอ หรือลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถที่จะโต้ตอบได้ คนละประโยคหรือชั้นละ 3-4 คนก็ได้ และทั้งหมด 12 ประโยคก็อาจจะเอาคนมา 30-50 คน แล้วเอามาแบ่งกันตามระดับชั้น   แล้วผลิตออกมาเป็นสื่อ  สิ่งเหล่านี้สามารถที่จะพัฒนาทำให้เด็กทั้งหมดได้เรียนกับครูฝรั่งโดยตรงเพราะเป็นเจ้าของภาษา การเรียนภาษาอังกฤษก็จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว 

หรืออีกวิธีหนึ่งคืออาจจะไปเชิญคนสอนที่เป็นคนที่เก่งและสังคมยอมรับ เช่น อาจารย์ลิลลี่ ที่ติวภาษาไทย อาจารย์อุ๊ที่สอนติววิชาเคมีที่นิยมไปติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไปเชิญมาเลย นอกจากจะพัฒนาตัวเด็กแล้วเด็กก็จะได้ไม่ต้องไปนั่งเรียนกวดวิชาให้เครียดและยังเสียเงินเสียทองผู้ปกครองอีก

เมื่อเชิญบุคคลเหล่านี้มาสอนก็ให้ค่าตอบแทนตามที่จะตกลงกันได้  ซึ่งเป็นผลดีกับตัวเด็ก และจะสามารถลดระบบกวดวิชาลงไปได้  ผลประโยชน์ทางอ้อมคือสามารถพัฒนาเป็นบทเรียนเพื่อการเรียนการสอนผ่านสื่อได้อีกด้วย สามารถนำสื่อเหล่านี้ไปเปิดให้เด็กในโรงเรียนของรัฐ /เอกชน หรือแม้กระทั่ง กศน. อื่น ๆ ได้หมด

ผลคือทำให้ทุกคนจะได้รับความเสมอภาคในการเรียนรู้ เรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน เพราะได้เรียนจากอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสูง สามารถลดปัญหาเรื่องความรู้ความสามารถไม่เท่ากันของครูในแต่ละโรงเรียนได้ หรือแม้แต่การถ่ายทอดให้นักเรียนได้ไม่เท่ากัน ก็จะลดน้อยถอยลงไปจนเกือบหมด เพราะว่าสามารถทดแทนการเรียนการสอนได้ด้วยสื่อ ซึ่งแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สื่อเหล่านี้สามารถปรับปรุงให้ทันสมัยได้ตลอดเวลาและทันเหตุการณ์ โดยอาจปรับทุก 1-2 ปี อาจจะทดลองปรับเปลี่ยนสื่อไปเรื่อย ๆ จนเป็นที่น่าพอใจ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์