เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 22 มิ.ย. นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยถึงกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนว่าก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์เอ็นจีวีขาดแคลนในหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคใต้ว่า ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว แต่ในส่วนของภาคเหนือและอีสานปัญหาคลี่คลายมากขึ้นแล้ว แต่ยอมรับในพื้นที่ภาคใต้ยังมีไม่เพียงพอ เพราะปริมาณก๊าซมีน้อยจึงต้องรอแหล่งใหม่เข้ามาเสริมอีกระยะหนึ่ง
สำหรับปัญหาการตรึงตัวของก๊าซซีเอ็นจีในจังหวัดตอนใต้ตั้งแต่ราชบุรีจนถึงภาคใต้นั้น นายเติมชัย ยอมรับว่าต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาสักระยะหนึ่ง
เพราะส่วนหนึ่งยังมีสถานีแม่ในการส่งก๊าซน้อย รวมถึงมีปริมาณก๊าซไม่มากด้วย จึงอยากให้ผู้ใช้ซีเอ็นจีในภาคใต้ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน แต่คาดว่าเดือนก.ค.-ส.ค. นี้จะมีสถานีแม่ที่เทพารักษ์จะช่วยคลี่ปัญหาการตึงตัวของซีเอ็นจีภาคใต้ได้ระดับหนึ่ง ส่วนสาเหตุที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าก๊าซธรรมชาติในพม่าขาดแคลนนั้นไม่เป็นความจริง แต่ยอมรับว่าตอนนี้สภาพอากาศของพม่าผันผวนจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพของก๊าซ หากค่าความร้อนต่ำรถจะอืด แต่หากค่าความร้อนสูงรถจะดับ
รายงานข่าวจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวี ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน
เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.ได้เสนอโครงสร้างราคาซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีให้พิจารณาโดยให้ปรับราคาจากปัจจุบันที่อยู่ 8.50 บาทต่อกก.เป็น 12-15 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นการคำนวณตามระยะทางที่ห่างจากแนวท่อก๊าซเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงและลดภาระของปตท.ด้วย
ขณะที่ประเด็นสำคัญคือถ้าขยับราคาเอ็นจีวีแล้วไม่ขึ้นแอลพีจี จะทำให้โครงสร้างบิดเบือน และทำให้คนหันไปใช้แอลพีจีเพิ่มขึ้น จึงต้องขยับให้มีราคาต่างกันเท่าเดิม ไม่ถูกกว่ากันมากไป และราคาเอ็นจีวีที่ปตท.เสนอมาผู้ประกอบการขนส่งไม่ยอมรับ เพราะมองว่าเป็นการขึ้นอัตราที่สูงเกินไป จึงต้องมาดูต้นทุนเพื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณา
ด้าน นายยรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานชมรมรถร่วมขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า
ราคาที่ปตท. เสนอมาแพงเกินไปเพราะแค่ขึ้นมาเพียง 2 บาทต่อกก.หรือจาก 8.50 บาทต่อกก.มาอยู่ที่ 10-11 บาทต่อกก.เฉลี่ยรถเมล์มีต้นทุนเพิ่มอีกคันละ 250 บาทต่อวันก็ยิ่งขาดทุน คงไม่ต้องรอให้การเมืองมาตัดสินใจอะไร เพราะการเมืองดีแต่ประชานิยมไม่ได้แก้ไขปัญหาภาพรวม ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะนำรถเมล์ไปปรับเครื่องยนต์เป็นการนำมอเตอร์ไฟฟ้ามาติดหรือเรียกว่ารถไฟฟ้าล้อยาง
นายยรรยงค์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีรถต้นแบบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทดลองวิ่งมา 3 ปีถือว่าประหยัดค่าใช้จ่ายหลายเท่าตัวมาก จึงจะนำมาดัดแปลงแล้วเปิดตัวถ้าสำเร็จจะเปลี่ยนให้หมด เพราะเบื่อปัญหาเอ็นจีวีขาดแคลนและน้ำมันแพงต่อเนื่อง ล่าสุดเอ็นจีวียังคงขาดแคลนในบางพื้นโดยเฉพาะภาคใต้ที่ยังไม่ได้ดีขึ้น.