เผยผลตรวจน้ำร้อนทำชาวบ้านตื่น เหตุจากเกลือสินเธาว์ละลายน้ำ ชี้เป็นปรากฎการณ์จากธรรมชาติ
วันที่ 21 มิ.ย. นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงผลการตรวจหาสาเหตุกรณีน้ำในลำน้ำชีมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรธรณี โดยนำตัวอย่างน้ำมาทดสอบพวกว่าสาเหตุที่น้ำเกิดความร้อนเกิดจากเกลือตามธรรมชาติหรือเกลือสินเธาว์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง ซึ่งปัจจัยสำคัญคือกระบวนการจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากอากาศร้อนจัด ฝนไม่ตก ทำให้ระดับน้ำลดและมีเกลือทั้งจากใต้ท้องน้ำและบนฝั่งชะล้างลงไปในน้ำเป็นปกติอยู่แล้ว และเมื่อน้ำแห้งขอดลงก็เพิ่มความเข้มข้นของเกลือในน้ำมากขึ้นและไหลไปไหนไม่ได้ จากนั้นความเข้มข้นของเกลือจะแยกระดับชั้นกัน โดยใต้ท้องน้ำจะมีความเข้มข้นของเกลือมากที่สุด ส่วนกลางและบนจะเจือจางลงตามลำดับ ในช่วงกลางวันความร้อนจากแสงแดดที่ส่องลงมาจะถูกกักเก็บไว้ในบริเวณใต้ท้องน้ำที่มีความเข้มข้นของเกลือมากที่สุด และไม่สามารถคายความร้อนกลับขึ้นไปได้ตามปกติเพราะมีชั้นความเค็มของน้ำเกลือคอยกั้นอยู่อีกถึง 2 ชั้น จึงทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงถึง 36 องศาเซลเซียส และทราบว่าน้ำในบริเวณดังกล่าวเคยมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น
นายเลิศสิน กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามกรณีที่พบปลาตายนั้น ทราบว่าก่อนที่คนจะลงไปเดินในน้ำ ปลายังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในระดับใกล้ผิวน้ำได้
แต่เมื่อคนลงไปกวนทำให้ความเค็มของเกลือกระจายตัวจนทำให้ปลาตาย ทั้งนี้ในช่วงสุดสัปดาห์ฝนได้ตกลงมาและทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว นอกจากนั้นขอชี้แจงว่าจุดที่เกิดปรากฎการณ์น้ำร้อนไม่ใช่แม่น้ำชี แต่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลที่ชาวบ้านเรียกลำชี และจากข้อมูลของชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ก็เรียกบริเวณดังกล่าวว่า “วังเค็ม” หรือ “วังร้อน” อยู่แล้ว จึงยืนยันได้ว่าปรากฎการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นไปตามธรรมชาติไม่ควรแตกตื่น นอกจากนั้นผลตรวจน้ำก็ไม่พบโลหะหนักตามที่ตั้งข้อสังเกตไว้ในเบื้องต้น แม้จะพบสารสีแดงเจือปนอยู่ในน้ำ แต่จากการสอบถามนักวิชาการที่ชำนาญทราบว่าเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชอบอาศัยอยู่ในอุณหภูมิสูงและมีความเค็มเท่านั้น และไม่น่าจะเป็นอันตรายอะไร