เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.)
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าน้ำในแม่น้ำชีบริเวณบ้านพลวงคุ้มโคกช้าง ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีอุณหภูมิสูง และมีไอร้อน จนสามารถต้มไข่ได้ว่า ล่าสุด เจ้าหน้าที่ ทธ.เข้าตรวจสอบในพื้นที่แล้ว โดยขุดตะกอนท้องน้ำในบริเวณจุดที่ชาวบ้านแจ้งว่ามีความร้อน เพื่อตรวจสอบปริมาณการสะสมของซากพืชซากสัตว์ และสภาพความเป็นกรดด่างของน้ำ
"ยืนยันว่าไม่ใช่พุน้ำร้อนที่เกิดจากรอยเลื่อนมีพลัง หรือมาจากภูเขาไฟแน่นอน แม้ว่าในอดีตพื้นที่ จ.สุรินทร์ จะมีภูเขาไฟชื่อพนมสวาย และที่จ.บุรีรัมย์ จะมีภูเขาไฟชื่อเขากระโดง แต่ภูเขาไฟทั้ง 2 แห่ง ดับสนิทไม่มีพลังงานแล้ว ส่วนสาเหตุนั้นน่าจะเกิดจากบริเวณใต้ท้องน้ำ มีแก๊สชีวภาพที่เกิดจากการหมักหมมตามธรรมชาติในบริเวณที่มีซากพืชซากสัตว์อยู่มาก เมื่อมีสภาวะที่ขาดออกซิเจน ซากพืชซากสัตว์จะแปรสภาพเป็นก๊าซมีเธน และโดยปกติแก๊สเหล่านี้จะถูกปิดทับด้วยชั้นทรายและชั้นน้ำของลำน้ำชี แต่ขณะนี้พบว่าระดับน้ำลดลงเหลือไม่ถึง 1 เมตรประกอบกับชั้นทราย ที่เคยปิดทับพวกนี้ไว้ถูกพัดพาออกไปทำให้แก๊สสามารถผุดขึ้นมาได้ และกระบวนการนี้เป็นกระบวนการทางเคมี เป็นปฏิ กริยาคายความร้อน จึงทำให้ดินทราย รวมทั้งน้ำที่อยู่ในบริเวณนั้นร้อน แต่หากมีระดับน้ำเพิ่มจะคลายความร้อนลง โดยปรากฎการณ์นี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ 1-2 วันเท่านั้น"
นายเลิศสิน กล่าวและว่า ก่อนหน้านี้เคยมีปรากฎการณ์แบบนี้มาแล้วหลายจุด เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ชัยนาท และพบว่าเป็นกรณีคล้ายกันหมด ทธ.จึงได้อธิบายและทำความเข้าใจกับผู้นำในชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดความแตกตื่น