เผยไก่เน่าที่โดนจับโคราชส่งขายตลาดล่าง ตจว. ด้าน สสจ.โคราชเผยตรวจไม่พบสารฟอร์มาลีนในไก่ชำแหละที่ปากช่อง
วันนี้( 14 มิ.ย. ) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ได้ประสานสำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) ทุกจังหวัดให้สุ่มตรวจเนื้อไก่ที่จำหน่ายในท้องตลาดเพื่อหาการปนเปื้อนแล้ว โดยเฉพาะใน จ.นครราชสีมา และเรียนผู้บริโภคว่า ยังสามารถบริโภคเนื้อไก่ที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ได้ ตามปกติ เพราะไก่เหล่านี้จะนำมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถืออีกทั้งปกติตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ หรือตลาดสดน่าซื้อ ส่วนใหญ่จะจำหน่ายไก่ที่เป็นตัว ๆ หรือครึ่งตัว ไม่ได้จำหน่ายไก่ที่ชำแหละแยกชิ้นๆ คาดว่าไก่ที่ชำแหละน่าจะส่งขายตามตลาดล่างในต่างจังหวัดเพื่อนำไปทำ ไก่ย่าง ไก่เสียบ ไก่ปิ้ง ไก่กระทะ มากกว่า เนื่อไก่ชำแหละที่เข้าไปจับกุมคงไม่มาถึงกรุงเทพฯ
นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจ.นครราชสีมา กล่าวว่า จากการตรวจสอบเนื้อไก่ชำแหละ ไม่พบว่า มีการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลีน แต่ต้องตรวจสอบสารไนเตรด และเชื้อแบคทีเรียต่อไป โดยส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครราชสีมาตรวจวิเคราะห์
ด้าน ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมตลาดสดยิ่งเจริญ กรุงเทพฯ ว่า
ในตลาดสดยิ่งเจริญ มีแผงจำหน่ายไก่ราว 50 แผง มีเนื้อไก่จำหน่ายวันละ 40-50 ตัน เป็นเนื้อไก่ที่มีคุณภาพและปลอดภัย จากโรงงานที่ได้มาตรฐาน การสังเกตเนื้อไก่ที่สด ใหม่ ควรมีลักษณะเนื้อแน่น ผิวตึง เมื่อใช้นิ้วแตะต้องไม่เป็นรอยบุ๋มตามแรงกด เนื้อมีสีสด ไม่ซีดหรือ มีจ้ำเขียว ใต้ปีก ขา และลำคอที่ต่อกับตัวต้องไม่มีสีคล้ำ ไม่มีจุดเลือดออกหรือตุ่มหนอง ไม่มีแผลตามตัว ลูกตาไม่ลึกบุ๋ม ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่มีเมือกลื่น สำหรับเนื้อไก่ที่ไม่ได้คุณภาพ ค้างคืนเป็นเวลานานจะมีลักษณะมีสีขาวซีดอมเขียว เนื้อจะนิ่มเละ เวลากดจะเป็นรอยบุ๋มตามแรงกด ไม่คืนตัว มีกลิ่นเหม็น
สำหรับการนำสารเคมีมาใช้เพื่อคงความสดของเนื้อสัตว์เป็นลักษณะการแปรรูปและถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่มักใช้ดินประสิวเป็นวัตถุกันเสีย และเป็นสารแต่งสีอาหารทำให้เนื้อมีสีแดง
หากร่างกายได้รับเข้าไปเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด และสามารถก่อมะเร็งได้ สำหรับฟอร์มาลีน จะทำให้ผิวหนังระคายเคืองหรืออักเสบ ระคายเคือง เยื่อบุทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปจะทำให้ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน กดประสาทส่วนกลาง ทำให้หมดสติและอาจเสียชีวิต.