ด.ญ.เคราะห์ร้ายขาขาดที่สิงคโปร์ กลับไทยฝึกกายภาพบำบัด-หมอชื่นชมใจสู้


ด.ญ.เคราะห์ร้ายขาขาดที่สิงคโปร์ กลับไทยฝึกกายภาพบำบัด-หมอชื่นชมใจสู้

 จากกรณีที่ ด.ญ.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อายุ 14 ปี หรือน้องธันย์ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.ตรัง  ซึ่งเดินทางไปเรียนซัมเมอร์คอร์สภาษาอังกฤษ เคมบริดจ์ที่ประเทศสิงคโปร์ และประสบอุบัติเหตุรถไฟฟ้า MRT ทับขาขาดทั้งสองข้าง  ซึ่งล่าสุดได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมอบให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ช่วยเหลือโดยเฉพาะในเรื่องของขาเทียมผ่านโครงการขาเทียมของศูนย์ศิรินธรฯ


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 มิ.ย.  น้องธันย์ มากับนายกิตติ์ธเนศ เป็นเอกชนะศักดิ์  บิดา  เข้าฝึกทำกายภาพบำบัด ที่ตึกกายภาพบำบัด ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ภายหลังเข้าพักรักษาตัวตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา


น.พ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์   กล่าวว่า เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมการแพทย์ดูแล และฟื้นฟู รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ขาเทียมชนิดที่ดีที่สุด ซึ่งกรมฯได้จัดซื้ออุปกรณ์ขาเทียมที่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ซีเลก เป็นเทคโนโลยีใหม่สั่งการด้วยไมโครชิป กรมฯสั่งซื้อมาจากประเทศเยอรมันในราคาข้างละ 1.2 ล้านบาท รวม 2 ข้าง 2.4 ล้านบาท ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี   สำหรับขาเทียมชนิดนี้มีความพิเศษกว่าขาเทียมทั่วไป เนื่องจากควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถควบคุมความเร็วในการเดิน ทำให้การเดินดูเป็นธรรมชาติ และคล่องตัวมากขึ้น


พ.ญ.ดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรฯ กล่าวว่า  ด.ญ.ณิชชารีย์  จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูร่างกาย การทำกายภาพบำบัด และการฝึกใช้ขาเทียมเป็นเวลาราว 6 สัปดาห์ โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรกจะเป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกาย ฝึกกล้ามเนื้อขา  โดยเฉพาะข้อสะโพก และทดลองใช้ขาเทียมที่จัดขึ้นชั่วคราวก่อน โดยในช่วง 4 สัปดาห์ที่เหลือจะเป็นการฝึกใช้ขาเทียมจริง สำหรับด.ญ.ณิชชารีย์ ถือว่าเป็นเด็กที่มีกำลังใจดีมาก ฝึกง่าย และยอมรับที่จะสวมใส่ขาเทียม ขณะที่บางคนหากประสบเหตุการณ์เช่นนี้มักจะท้อแท้ ซึมเศร้าร่วม 2-3 เดือนทีเดียว


ด.ญ.ณิชรีย์  กล่าวว่า ตั้งแต่ตนเดินทางกลับมาประเทศไทยก็ได้รับกำลังใจทั้งจากครอบครัว  เพื่อน ญาติ แพทย์ พยาบาล และบรรดาเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นอย่างดี หลายคนทยอยมาเยี่ยมดูอาการเรื่อยๆ  จึงทำให้มีกำลังใจขึ้นมาก ในเวลาว่างก็พยายามฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง  ตามคำแนะนำของแพทย์ 

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้สู้มาโดยตลอด คือ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งตนระลึกถึงอยู่เสมอและตั้งใจไว้ว่าจะต้องหายในเร็ววันเพื่อจะได้ตั้งใจเรียนหนังสือต่อไป และเป็นจิตแพทย์อย่างที่ตั้งใจเอาไว้ โดยในเวลาว่างก็อ่านหนังสือเป็นประจำ พยามคิดบวกให้ตนเองมีกำลังใจเสมอ   และยิ้มแย้มแจ่มใสกับคนรอบข้าง  ซึ่งคิดว่าหากทำได้คนรอบกายก็จะสบายใจ และสัญญากับตัวเองไว้ว่า หากวันหนึ่งได้เป็นจิตแพทย์ก็จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยคิดบวกเช่นกัน


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์