ปส.เผยวิกฤตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะยังน่าห่วง


พบรังสีหลายชนิดในสิ่งแวดล้อม  ยืนยันในไทยยังปลอดภัยแน่นอนเพราะตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง


วันนี้  (14 มิ.ย.) ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) บางเขน ได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ : บทเรียนหรือคำเตือน” โดยนายภานุพงศ์ พินกฤษ วิศวกรนิวเคลียร์ ปส. กล่าวว่า ความพยายามในการลดอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ ที่ทางบริษัท เทปโก้(TEPCO) ได้ดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาจไม่สามารถป้องกันการหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์ได้  เนื่องจากการฉีดน้ำเข้าไปในอาคารปฏิกรณ์อย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าจะทำให้อุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ลดลงแล้ว  แต่จากข้อมูลการตรวจสอบการปนเปื้อนทางรังสีทั้งในอากาศ ดิน และในแหล่งน้ำในบริเวณโดยรอบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะล่าสุด กลับพบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีบางชนิดที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ แสดงว่าสารกัมมันตรังสีดังกล่าวอาจรั่วไหลมาจากเตาปฏิกรณ์ ซึ่งทางบริษัทเทปโก้ได้ออกมายอมรับในเวลาต่อมาว่ามีความเป็นไปได้ที่เกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ที่ 1, 2 และ 3

นายภานุพงศ์  กล่าวอีกว่า  สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ รังสีที่เกิดจากการหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์เหล่านี้บางส่วนมีค่าครึ่งชีวิตค่อนข้างยาว เช่น ซีเซียม มีครึ่งชีวิตยาวนานถึง 30 ปี  ซึ่งจะทำให้ผู้ได้รับมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บป่วยทางรังสีหรือโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหากรังสีเหล่านี้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในปริมาณมากจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับรังสีที่จะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาว

ส่วนสาเหตุที่ทำให้สารกัมมันตรังสีเหล่านี้บางส่วนรั่วไหลลงสู่น้ำทะเลตามที่เป็นข่าวนั้น  นายภานุพงศ์กล่าวว่า น่าจะเกิดจากการรั่วซึมมาจากบ่อพักของระบบไฟฟ้าซึ่งอยู่ใกล้กับน้ำทะเลและเต็มไปด้วยน้ำที่ใช้ในการลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์ จนทำให้น้ำซึ่งปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีรั่วไหลสู่น้ำทะเลในที่สุด

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัจจุบันของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ยังมีการป้อนน้ำจืดเข้าไปเพื่อระบายความร้อน และทำให้เตาปฎิกรณ์ดับสนิท ซึ่งต้องใช้เวลานาน  ส่วนการปนเปื้อนหรือแพร่กระจายสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการทบทวนรูปแบบการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันใหม่ รวมถึงนำไปสู่การพิจารณามาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับในประเทศไทย ศ.ดร.ชัยวัฒน์  ต่อสกุลแก้ว  เลขาธิการปส.   เปิดเผยว่า ปส.มีการตรวจสอบการปนเปื้อนหรือแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ ตรวจสอบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในทะเลน้ำตื้น  โดยนำน้ำทะเลกว่า  20  ตัวอย่างมาตรวจสอบยังไม่พบความผิดปกติ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  นำตัวอย่างอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมาตรวจสอบแล้วกว่า 350 ตัวอย่าง  ซึ่งจากการตรวจพบว่ายังอยู่ในภาวะปกติ และในช่วงหลัง ๆ นี้ แทบไม่เจอการปนเปื้อนเลย แสดงว่าญี่ปุ่นมีการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะตรวจสอบสัตว์น้ำในทะเลน้ำลึกอีกด้วย.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์