จากกระแสข่าวพบ เชื้ออีโคไล ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเยอรมนีและแถบยุโรป
จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนั้น โดยขณะนี้ยังไม่ทราบแหล่งที่มาของเชื้ออย่างแน่ชัด แต่บางกระแสก็กล่าวว่ามาจากแตงกวา ถั่วงอก และปุ๋ยอินทรีย์ เหตุการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายกังวล เกรงว่าเชื้อดังกล่าวจะปะปนอยู่ในสินค้าเกษตรไทยบ้างหรือไม่
นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบด้านการผลิตสินค้าเกษตร ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อหาแนวทางทำงานร่วมกันในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการพบเชื้ออีโคไล สายพันธุ์ โอ 104 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ โดยเน้นการตรวจสอบทั้งในสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศ และสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำว่าขณะนี้สินค้าเกษตรของไทย ทั้งสินค้าพืชและปศุสัตว์ปลอดภัยจากเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ แต่เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า กระทรวงเกษตรฯ จึงมีมาตรการเข้มงวดที่จะดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังเชื้อดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
กรมวิชาการเกษตร ได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์เชื้อดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ในกลุ่มสินค้าพืช
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมระบบการจัดการการผลิตสินค้าเกษตรทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออกให้ปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์ โดยอาศัยพื้นฐานการผลิตที่ดีตั้งแต่กระบวนการผลิตในแปลงผลิตตามมาตรฐานเกษตร GAP รวมถึงระบบการผลิตในโรงคัดบรรจุตามมาตรฐาน GMP หรือ HACCP เพื่อพัฒนาระบบการผลิตให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
ส่วน มกอช. จะติดตามสถานการณ์ผ่านความร่วมมือในเรื่องการแจ้งเตือนความปลอดภัยด้านอาหารกับสหภาพยุโรป
ซึ่งจะมีการแจ้งสถานการณ์ปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารให้กับ มกอช. อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ โครงการแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารกับอาเซียน ก็ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ไทยสามารถติดตามและเตรียมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากในกรณีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนรายใดเกิดพบเชื้อตัวนี้ในอาหารก็จะแจ้งให้สมาชิกอาเซียนทราบทันที
สำหรับสินค้าในกลุ่มปศุสัตว์นั้น กรมปศุสัตว์ ได้กำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้ออีโคไล
ในการนำเข้าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ผ่านทางด่านกักกันสัตว์ของกรมฯ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ด่านกักกันสัตว์สุวรรณภูมิ ด่านกักกันสัตว์กรุงเทพทางน้ำ และด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจากทวีปยุโรปที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ที่มีการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าปศุสัตว์เพื่อการบริโภคของไทยมีเพียง 2 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ตับเป็ดจากประเทศฝรั่งเศส และ ฮังการี ตับสุกรและมันแข็งสำหรับผลิตไส้กรอก จากประเทศเบลเยียม เดนมาร์ก และเยอรมนี ซึ่งยังไม่มีการตรวจพบเชื้ออีโคไลในการนำเข้าสินค้าจากด่านกรมปศุสัตว์ทั้ง 3 แห่งเลย
ด้าน นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรที่นำเข้าจากประเทศในแถบยุโรปนั้น
ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทผลไม้ เช่น กีวี่ แอปเปิ้ล ส่วนพืชมีปริมาณนำเข้าค่อนข้างน้อย ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด่านตรวจพืชทุกด่านเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสุ่มเสี่ยง โดยทำการสุ่มตัวอย่างสินค้าเพื่อนำไปตรวจสอบวิเคราะห์หาเชื้ออีโคไลที่กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรไม่มีเครื่องตรวจสอบเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในยุโรป เรามีเพียงเครื่องตรวจสอบเชื้ออีโคไลทั่วไป โดยที่ผ่านมาก็มีการตรวจสอบสินค้าโดยเฉพาะการหาศัตรูพืชและสารพิษตกค้างก่อนส่งออกอยู่แล้ว ดังนั้น เชื่อมั่นว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย อีกทั้งไม่กระทบต่อการบริโภคของประชาชนในประเทศด้วย
...ได้รับคำยืนยันจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วว่าไทยยังไม่มีเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ ดังนั้นผู้บริโภคสินค้าเกษตรไทยสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้เต็มที่.