เยอรมนีฟันธง ถั่วงอกตัวการแพร่เชื้ออีโคไล คร่าชีวิตปชช.แล้ว 31 ราย


เยอรมนีฟันธง "ถั่วงอก"ตัวการแพร่เชื้ออีโคไล คร่าชีวิตปชช.แล้ว 31 ราย

สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมนีเปิดเผยวานนี้(10 มิ.ย.)ว่า พืชประเภทหน่อจากฟาร์มทางตอนเหนือของเยอรมนี เป็นสาเหตุของเชื้อแบคที่เรียอีโคไลที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 31 ราย และติดเชื้ออีกกว่า 3,100 คน

ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเปิดเผยว่า จากการตามรอยเชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียและมีภาวะไตล้มเหลว ไปยังร้านอาหารที่เชื่อว่าผู้ป่วยใช้บริการ เพื่อตรวจสอบหาอาหารและส่วนประกอบที่ถูกบริโภค จนกระทั่งสามารถสาวไปยังฟาร์มแห่งหนึ่งได้สำเร็จ ทั้งนี้ ยังคงมีหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ อาทิ มีอะไรปนเปื้อนในผักประเภทมีหน่อในครั้งแรกที่พบ หรือมันปนเปื้อนในเมล็ดพันธุ์ น้ำที่ใช้รด หรือจากสัตว์ที่อยู่ใกล้เคียงหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ยังคงไม่สามารถหาคำตอบได้

ผักประเภทมีหน่อเป็นผักที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงทั้งโปรตีน และวิตามิน สภาพแวดล้อมในการปลูก อีกทั้งเป็นผักที่นิยมบริโภคดิบ อาจทำให้มันเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ วิธีกาฟรปลูกส่วนใหญ่มักมีการเพาะกันในน้ำ อีกทั้งยังเป็นพืชที่ต้องอาศัยความร้อนและความชื้นในการเติบโต ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสำหรับการเติบโตของเชื้ออีโคไลเช่นกัน

โดยผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งกล่าวว่า ตัวเมล็ดพันธุ์มีพื้นผิวให้แบคทีเรียเกาะตัวจำนวนมาก และอาจเกาะอยู่เช่นนั้นนานนับเดือน และไม่ว่าจะนำไปทำความสะอาดก็ไม่สามารถล้างเชื้อแบคทีเรียที่เกาะที่เมล็ด พันธุ์ได้หมด และเมื่อนำไปเพาะด้วยน้ำ นั่นยิ่งทำให้แบคทีเรียสามารถแตกตัวได้มากกว่าเดิมถึง 100,000 เท่า

นายไรน์ฮาร์ด แบร์เกอร์ ผู้อำนวยการสถาบันโรเบิร์ต โคช ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมโรคของเยอรมนี เปิดเผยว่า  มีข้อมูลใหม่ที่ยืนยันว่าการแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลในเยอรมนี น่าจะมีแหล่งที่มาจากถั่วงอกมากที่สุด

นายเบอร์เกอร์ กล่าวว่า ผู้บริโภคที่รับประทานถั่วงอก มีสัญญาณของการติดเชื้ออีโคไลมากกว่าผู้ที่ไม่ได้บริโภคถึง 9 เท่า  ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากผลการศึกษาประชาชนกว่า 112 คน ซึ่งรวมถึง 19 รายที่ล้มป่วยหลังจากรับประทานอาหารในภัตตาคาร

ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคของเยอรมนีเชื่อว่า  ต้นกำเนิดของการปนเปื้อนเชื้ออีโคไล มาจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ขนาดเล็กแห่งหนึ่งในรัฐโลว์เออร์แซกโซนี ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา   แม้ผลการตรวจผักหลายชนิดในฟาร์ม เช่น มะเขือเทศ แตงกวา และผักกาดหอม ได้ผลเป็นลบ  แต่ก็มีหลักฐานที่ยังคงบ่งชี้ว่า ฟาร์มแห่งนี้เป็นแหล่งที่มาของการปนเปื้อนเชื้ออีโคไลในถั่วงอก

ด้าน นายเกิร์ท ลินเดอมานน์ รัฐมนตรีเกษตรของรัฐโลเวอร์แซกโซนี เปิดเผยว่า ร้อยละ 60 ของผู้ที่ได้รับเชื้ออีโคไล คือผู้ที่รับประทานถั่วงอกจากฟาร์มเล็ก ๆ ในเมืองบีเนนบือเทล ซึ่งมีคนงานประมาณ 15 คน  การปนเปื้อนเชื้ออีโคไลอาจมีต้นกำเนิดมาจากเมล็ดพันธุ์ที่ติดเชื้อ หรือสภาพสุขอนามัยที่ย่ำแย่ภายในฟาร์ม  ซึ่งมีรายงานว่า คนงาน 3 คน ในฟาร์มแห่งนี้ ล้มป่วยด้วยอาการท้องร่วงในเดือนที่แล้ว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์