“พาณิชย์” ลดราคาหมูอีก 5 บาท เหลือ กก.130-140 บาท ไล่บี้ “ฟาร์มใหญ่” ห้ามขายเกินกำหนด ส่วน “สหกรณ์เลี้ยงไก่” ฉะ “มาร์ค” บีบราคาไข่ตก
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้ปรับลดราคาแนะนำขายปลีกเนื้อหมูลงอีก 5 บาท มีผลในวันนี้ (7 มิ.ย.) โดยราคาขายปลีกหมูเนื้อแดง (สะโพก) กรุงเทพ ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ไม่เกินกิโลกรัมละ 130 บาท ภาคเหนือและอีสาน 135 บาท ส่วนภาคใต้ 140 บาท ส่วนราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 69-70 บาท และคาดว่าสถานการณ์ราคาหมูจะลดลงอย่างต่อเนื่องในต้นเดือน ก.ค. นี้ หลังจากผลผลิตเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เย็นลง และสัดส่วนสูญเสียจากหมูแท้งในโรคพีอีดีน้อยลง
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบราคาทั่วประเทศ
หากผู้ประกอบการรายใดขายหมูเกินราคาแนะนำที่กำหนด จะตักเตือนเบื้องต้น แต่หากยังจงใจขายเกินราคา จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 29 ปรับ 1.4 แสนบาท มีโทษจำคุก 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการแก้ปัญหาราคาอาหารสำเร็จรูปราคาแพงนั้น กรมการค้าภายในจะเชิญผู้ประกอบการกลุ่มอาหารสำเร็จรูปมาหารือ เพื่อออกมาตรการแก้ปัญหาวันที่ 10 มิ.ย. นี้ เบื้องต้นให้เพิ่มทางเลือกเมนูอาหาร 25 บาทในศูนย์อาหารของห้างค้าปลีก และสถานที่ที่มีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ช่วงเช้าวันเดียวกัน ตัวแทนสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่จากหลายจังหวัดราว 100 คน
ได้รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนการหาเสียงด้วยการกดราคาไข่ไก่ ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ เนื่องจากพ่อค้าคนกลางใช้อ้างในการบีบราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ขณะที่ นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า
ขณะนี้เกษตรกรได้เปลี่ยนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวนาดอน และข้าวโพดจำนวน 1 ล้านไร่มาปลูกอ้อยแทน หลังจากน้ำตาลทรายตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมามีราคาดี ส่งผลให้ในปีฤดูกาลผลิตอ้อยปี 54/55 ไทยจะมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 7-8 ล้านไร่ ดังนั้นโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างเร่งการเจรจาในการทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้ากับผู้ค้าในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น จีน เพราะหากล่าช้าอาจทำให้ขายน้ำตาลได้ลำบากหรือขายได้ในราคาไม่ดี
เลขาธิการ สอน. กล่าวด้วยว่า ในฤดูกาลผลิตปี 54/55 ทั่วโลกประเมินว่าตลาดโลกจะมีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดไม่ต่ำกว่า 10.3 ล้านตัน
ต่างจากปีนี้ที่ขาดตลาด 0.5 ล้านตัน โดยน้ำตาลในปี 54/55 มาจากน้ำตาลที่ได้จากผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นกว่า 9.6 ล้านตัน เป็น 145.4 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลจากที่เพิ่มขึ้นกว่า 4.6 ล้านตัน เป็น 36.8 ล้านตัน เนื่องจากทั่วโลกมีผลผลิตเพิ่ม รวมถึงประเทศในกลุ่มแอฟริกาที่หันมาปลูกอ้อยกันมาก