นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มิถุนายนถึงกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า
สำหรับการกู้ซากเรือขึ้นมาจะทำอย่างเป็นระบบ และทำงานทุกวัน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น จ.พระนครศรีอยุธยา กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มติที่ประชุม ครม. ได้ข้อสรุปว่าจะใช้โป๊ะไปทำบอลลูนเพื่อยกเรือขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดในพื้นที่คับแคบ ไม่สามารถใช้เครื่องมือทางบกเข้าไปได้ อีกทั้งกระแสน้ำแรงมาก เดิมตั้งใจว่าจะขอให้กรมชลประทานลดการปล่อยน้ำจากเขื่อน เพื่อให้ปริมาณและกระแสน้ำน้อยลง แต่เนื่องจากฝนตกลงมาตลอดหลายวัน ทำให้การลดปริมาณน้ำไม่สามารถทำได้ จึงต้องเปลี่ยนวิธี คาดว่าการนำโป๊ะไปทำบอลลูนจะสามารถดำเนินการได้ภายในอีก 2 วัน และคาดว่าวันที่ 11 มิถุนายน จะสามารถย้ายเรือออกจากบริเวณดังกล่าวได้
ส่วนความเสียหายของบ้านเรือน ผู้ประกอบการเรือจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจน
และเขาจะไปไล่เบี้ยกับบริษัทประกันก็เป็นหน้าที่ของเขา เมื่อถามว่า รัฐบาลจะมีส่วนช่วยในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร นายเกื้อกูลกล่าวว่า แยกเป็น 2 กรณี ในส่วนเจ้าของบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ทางผู้ประกอบการรับผิดชอบแล้วโดยสร้างบ้านใหม่ให้ พร้อมกับสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง
แต่ในส่วนของผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ที่ประชุม ครม.เป็นห่วง เราจึงอาจมีเงินส่วนหนึ่งมาเยียวยาโดยเป็นเงินจากกองทุนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของกระชังปลาจะชดเชยให้ 60% ตามระเบียบปี 2550 เพราะการฟ้องร้องทางคดีต้องใช้เวลานานและเมื่อได้เงินจากการฟ้องร้องมาแล้วจึงนำมาใช้คืนกองทุน แต่ท้ายที่สุดผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ ส่วนปลาธรรมชาติที่ตายไปทางกรมประมงจะแก้ไขโดยการปล่อยพันธุ์ปลาเพิ่ม