สั่งแจ้งความเอาผิดอดีตอธิบดีม.อีสาน

“ชินวรณ์” สั่งสกอ.แจ้งความเอาผิดอดีตอธิการบดี ม.อีสาน และผู้เกี่ยวข้องฐานฉ้อโกงประชาชน ชี้ทำลายความมั่นคงทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ  รมว.ศธ. ได้หารือร่วมกับนายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดศธ.นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา และดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และเปิดเผยภายหลังการหารือว่า  ขณะนี้คณะกรรมการควบคุม มหาวิทยาลัยอีสาน(มอส.)ได้ตรวจพบว่า มอส.ทำผิดหลายกรณี แต่ประเด็นที่ตนให้ความสำคัญคือการฉ้อโกงประชาชน เพราะถือว่าเป็นการทำลายความมั่นคงด้านคุณภาพการศึกษา จึงได้สั่งการให้ ดร.สุเมธ  ไปแจ้งความกล่าวโทษเอาผิดอดีตอธิการบดีมอส. อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 28 พ.ค. ที่สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อนำไปสู่การถอนรากถอนโคนต่อไป

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า  สำหรับบัณฑิต 11 คน ที่ไม่ได้เข้าศึกษาตามหลักสูตรและสารภาพว่าซื้อใบป.บัณฑิตมา

เพื่อขอออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูก็เป็นการใช้เอกสารเท็จ ตนได้มอบให้เลขาธิการคุรุสภาดำเนินการเอาผิดโดยให้อนุกรรมการฝ่ายกฎหมายของคุรุสภาหาข้อยุติโดยเร็ว ส่วนกรณีบัณฑิตมอส.ที่สอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้และคิดว่าตนเองได้ใบป.บัณฑิตมาถูกต้อง มีการเข้าเรียนและฝึกปฏิบัติการสอนจริง จากการหารือร่วมกันเห็นว่าควรให้บัณฑิตกลุ่มนี้รวมตัวตามประกาศของศธ.เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของนักศึกษาเพื่อฟ้องร้องต่อผู้กระทำทุจริต เพื่อให้เป็นแบบอย่างและรักษาสิทธิ์ของตนเองต่อไป และตนยังได้มอบให้คุรุสภาเยียวยากลุ่มบุคคลดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ใบป.บัณฑิตมาโดยชอบด้วย

ด้าน ดร.สุเมธ  กล่าวว่า ตนได้มอบให้เจ้าหน้าที่สกอ.

ไปแจ้งความดำเนินคดีกับอดีตอธิการบดี อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในประเด็นการฉ้อโกงประชาชน เพราะมีหลักฐานชัดเจนจากการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมาเรียนหลักสูตรป.บัณฑิต แต่เวลาจัดสอนจริงกลับไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จนเป็นเหตุให้สภามหาวิทยาลัยมอส.ยกเลิกใบป.บัณฑิตและมีผลต่อเนื่องทำให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาต้องยกเลิกการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไปด้วย แต่ที่สำคัญสกอ.เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการศึกษา ทำให้อุดมศึกษาไทยไม่น่าเชื่อถือและผู้ใช้บัณฑิตเกิดข้อสงสัยว่าบัณฑิตที่เอาปริญญาไปยื่นมีความรู้ความสามารถแท้จริงเพียงใด โดยจะเกี่ยวโยงไปถึงความเชื่อมั่นในต่างประเทศด้วย ดังนั้นในกรณีของมอส.ทางสกอ.จะดำเนินการจนถึงที่สุด ส่วนกรณีที่สกอ.ให้เจ้าหน้าที่ไปเปรียบเทียบปรับอดีตอธิการบดีมอส. 2 แสนบาทนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่ได้มาเสียค่าปรับดังกล่าว ดังนั้นหากท้ายสุดก็คงต้องฟ้องร้องทางแพ่งต่อไป

“ คณะกรรมการควบคุมการบริหารมอส.กำลังเร่งตรวจสอบการทำงานของมอส. ซึ่งสุดท้ายถ้ามีสิ่งที่เชื่อว่ามอส.ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ก็อาจจะเป็นเหตุให้ต้องเสนอขอถอนใบอนุญาตจัดตั้ง. แต่ถ้าปรับปรุงให้คืนสภาพและมีความเชื่อมั่นก็จะเสนอขอถอดถอนการควบคุม” ดร.สุเมธ กล่าว 


ส่วน นายองค์กร กล่าวว่า จะเสนอเรื่องการแจ้งความดำเนินคดีในส่วนของคุรุสภาไปยังคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของคุรุสภาโดยเร็ว

ส่วนบัณฑิตมอส.11รายที่สารภาพว่าซื้อใบป.บัณฑิตมาอาจจะไม่แจ้งความ เพราะถือว่าให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อาจจะต้องกันไว้เป็นพยาน ทั้งนี้การแจ้งความในส่วนของคุรุสภาจะเป็นฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา137 และ 267  ซึ่งจะเป็นคนที่เซ็นอนุมัติป.บัณฑิต ใบแสดงผลการเรียนก็คืออธิการบดี เจ้าหน้าที่ ผู้ช่วยนายทะเบียน และหนังสือนำส่งที่ส่งจากมหาวิทยาลัยมาที่คุรุสภา

ขณะที่ นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดศธ. กล่าวว่า กรณีมีข่าวว่าอาจมีกรรมการคุรุสภาบางคนเกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อขายวุฒิป.บัณฑิต

และกรณีมีสถานศึกษาบางแห่งรายงานข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการฝึกสอนของนักศึกษานั้น นายชินวรณ์ได้ให้ตนตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร หัวหน้าผู้ตรวจราชการศธ.เป็นประธาน และให้รายงานผลภายใน 15 วันทำการ

ทางด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า
 
จากการประชุมคณะกรรมการควบคุมการดำเนินงานของมอส. ซึ่งมีนายสมนึก พิมลเสถียร เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พิจารณากรณีการรับมอบทรัพย์สินของมอส. จากอดีตอธิการบดี และผู้รับใบอนุญาต โดยที่ประชุมเห็นว่ายังไม่สามารถรับมอบทรัพย์สินได้ เนื่องจากมีการดำเนินการไม่ถูกต้องหลายเรื่อง อาทิ ชื่อบัญชีธนาคารที่ระบุเป็นชื่อของผู้รับใบอนุญาต ไม่ใช่อธิการบดี หรือผู้รับมอบจากสภามหาวิทยาลัย เพราะพ.ร.บ.การจัดการศึกษาเอกชน ระบุให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องมอบทรัพย์สินทุกประเภทให้แก่มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นนิติบุคคลนอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบการมีอยู่ของทรัพย์สินที่ได้รายงานมา 24 ล้านบาทเศษ รวมทั้งตรวจสอบรายการหนี้สินที่แจ้งว่ามีหนี้เงินกู้ 24 ล้านบาทและหนี้สินอื่นๆ โดยจะดูว่าหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นตามข้อบังคับหรือไม่ และสภามหาวิทยาลัยมีส่วนรับทราบในการก่อหนี้หรือไม่

รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้ากรณี สกอ.แจ้งให้มหาวิทยาลัย 89 แห่ง ที่เปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิต รายงานข้อมูลนักศึกษา รายชื่อโรงเรียนที่รับนักศึกษาไปฝึกสอน และรายชื่ออาจารย์นิเทศนั้น ขณะนี้มีแจ้งมาแล้ว 64 แห่ง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เปิดสอนนอกที่ตั้ง โดยมีจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้นถึงกว่า 3 หมื่นคน

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการวุฒิสภา อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา

ซึ่งนายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช ประธานกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีการซื้อขายวุฒิป.บัณฑิต โดยเชิญตัวแทนจากสกอ. คุรุสภา และตัวแทนผู้บริหาร มอส.ชุดใหม่มาชี้แจง และได้เร่งรัดการติดตามตรวจสอบกรณีการซื้อขายวุฒิป.บัณฑิต รวมถึงการแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังได้กำชับให้มีการตรวจสอบสถาบันอื่นด้วยว่ามีการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน หรือจัดการศึกษาในเชิงพาณิชย์อีกหรือไม่ โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาติดตามการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์