เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พญ.วิลาวัลย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เปิดเผยว่า
จากการศึกษาหมอพื้นบ้านเพื่อศึกษาสมุนไพรทั้ง 1,927 ตำรับ ว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง โดยจะเน้นชนิดที่มีกลุ่มผู้ป่วยมากในลำดับต้นๆ ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก
"ที่ประชุมสรุปเบื้องต้นว่า สมุนไพรตำรับดังกล่าวมีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็งได้จริง แต่เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรกเท่านั้น โดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านมค่อนข้างที่จะยืนยันได้ว่าเมื่อใช้สมุนไพรแล้วไม่ต้องตัดเต้านมทิ้ง และจากการประชุมนี้ยังพบว่ามีตำรับยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นถึง 2,000 ตำรับ" พญ.วิลาวัลย์กล่าว และว่า จะหาแนวทางเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวต่อไป โดยจะทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือต่างชาตินำไปจดลิขสิทธิ์ ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ สูญเสียทรัพยากรที่สำคัญ ดังนั้น ข้อมูลตำรับสมุนไพรทั้ง 2,000 ตำรับ จะจดแจ้งไว้เป็นภูมิปัญญา พร้อมบรรจุในหลักสูตรการแพทย์แผนไทย ที่มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา และหากพบว่ายาตำรับใดได้รับการยอมรับในวงกว้าง มีผลวิจัยรับรองสรรพคุณแล้ว จะส่งเสริมให้ผลิตในรูปแบบยาสำเร็จรูปต่อไป
พญ.วิลาวัลย์กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย จะนำความรู้ที่ค้นพบไปถ่ายทอดแก่หมอพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งแต่ละชนิด แทนการจัดพิมพ์เป็นหนังสือแจก เพราะจะได้ปกป้องภูมิปัญญาของไทย และป้องกันผู้ที่จะไปกว้านซื้อสมุนไพรเพื่อหวังผลทางการค้าด้วย