3แบงก์รัฐรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า

ออมสินพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในโครงการปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต ร่วมกับธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ในวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงไทยและออมสินจะปล่อยสินเชื่อธนาคารละ 4,500 ล้านบาท ที่เหลือเป็นของ ธอท. โดยคิดดอกเบี้ยที่ 10% และปล่อยกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 300,000 บาท ผ่อนชำระนาน 3-5 ปี
   
สำหรับเบื้องต้นคาดว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน และจะได้ข้อสรุปรายละเอียดต่าง ๆ ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้

หลังจากที่ก่อนหน้านี้  3 ธนาคารได้หารือร่วมกัน ทั้งนี้ลูกหนี้ที่ถือบัตรเครดิตจะต้องยกเลิกบัตรเครดิตกับธนาคารเจ้าของบัตรเดิมก่อนสักระยะหนึ่งและธนาคารจะพิจารณาปล่อยกู้โดยคำนึงถึงวินัยทางการเงิน มีประวัติการชำระที่ดี
   
“คาดว่าโครงการนี้จะทำให้ลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยได้เพราะปัจจุบันประชาชนต้องรับภาระดอกเบี้ยปีละ 18,000 บาท จากวงเงินสินเชื่อ 100,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท หากเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลงมาเหลือปีละ 10,000 บาท หรือผ่อนชำระเดือนละ 800 บาท ทำให้ยังมีเงินเหลือพอในการใช้จ่าย”
   
นายปิยะศักดิ์ เตชะเสน รองประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสสายงานบัตรเครดิต บริษัทกรุงไทย หรือ เคทีซี กล่าวว่า

เคทีซีมีคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการนี้ แต่ต้องศึกษารายละเอียด เบื้องต้นมีลูกหนี้ที่มีประวัติการผ่อนชำระที่ดีอยู่ในสัดส่วนที่สูง หากโครงการนี้ออกมาจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า เพราะว่าภาระการผ่อนดอกเบี้ยลดลงและทำให้มีกำลังซื้อสูงขึ้น ก็จะมีผลดีมาถึงการจับจ่ายผ่านธุรกิจบัตรเครดิตมากขึ้นด้วย
   
นายสุภัค ศิวรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะกระตุ้นการบริโภคและลดภาระให้แก่ผู้บริโภค เชื่อว่าจะไม่ให้เกิดปัญหาเอ็นพีแอลทั้งระบบ เพราะเชื่อว่าธนาคารมีเกณฑ์การพิจารณาลูกค้าอย่างรอบคอบอยู่แล้ว
   
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นก็    ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเป็นการแข่งขัน แต่ขอให้การแข่งขันเป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ใช่มี 2 มาตรฐาน 
   
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า
โครงการสินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เป็นกลยุทธ์ของรัฐบาลที่จะทำให้สถาบันการเงินเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตผ่านการใช้สถาบันการเงินของรัฐเป็นเครื่องมือ ดังนั้นหากสถาบันการเงินไหนไม่แข่งขันจะสูญเสียลูกค้า
   
“แบงก์พาณิชย์ต้องปรับตัวในด้านบริการ และให้ลูกค้าได้รับความสะดวก อยากให้รัฐเข้าใจโครงสร้างธุรกิจปัจจุบันการแข่งขันสมบูรณ์อยู่แล้วไม่ใช่ตลาดผูกขาด โดยเฉพาะในเรื่องราคาดังนั้นรัฐบาลไม่จำเป็นต้องชี้นำให้แบงก์พาณิชย์ เพราะปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตไว้สูงสุดที่ 20% ต่อปี”
   
นางกาญจนา โรจนวทัญญู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การโอนย้ายพอร์ตลูกหนี้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ซึ่งต้องดูวงเงินอนุมัติสินเชื่อโดยรวมของลูกค้าว่าอยู่กับธนาคารเดิมมีเท่าไหร่ และต้องโอนทั้งหมดหรือไม่ และต้องทำอย่างไรไม่ให้ลูกค้าไปสร้างหนี้เพิ่ม โดยปัจจุบันการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว แม้ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตกำหนดเพดานสูงถึง 20% แต่ในความเป็นจริงมีดอกเบี้ยโดยคิดตามความเสี่ยงและพฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกค้า โดยในส่วนของธนาคารมีคิดดอกเบี้ยให้ 9.5% และ 17% ลูกค้าได้รับดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและพฤติกรรมในการชำระเป็นตัวผลักดันในเรื่องดอกเบี้ยส่วนหนึ่ง ชำระดีเก็บต่ำ การแข่งขันมีก็กดดันเรื่องนี้อยู่ดี.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์