นักดาราศาสตร์ไทยยืนยันไม่มีดาวเคราะห์ชนโลกแน่นอน เต็มที่แค่เฉียดในระยะ 3 แสนกิโลเมตร ชี้ไร้ผลกระทบ
วันนี้ (6 พ.ค.) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า องค์การการบินและอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซ่า ทำนายว่าจะมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ชื่อ "วายยู 55" กว้าง 1,300 ฟุต หนัก 55 ล้านตัน กำลังเคลื่อนเข้ามาใกล้และอาจจะพุ่งชนโลกได้ในเดือน พ.ย.นี้ ว่า ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวคือ การโคจรเฉียดโลก ในระยะ 3 แสนกว่ากิโลเมตร ไม่ใช่การพุ่งชนโลกอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวมีการค้นพบเมื่อ 6 ปีที่แล้ว
โดยโครงการติดตามวัตถุจำพวกดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสเข้าชน โลกในระดับนานาชาติ ซึ่งจากการคำนวณพบว่าจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 9 พ.ย.2554 ในเวลา 14.13 น. โดยระยะห่างจากโลกประมาณ 340,000 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อโลก เพียงแต่เป็นที่สนใจ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่โคจรเข้าใกล้โลกในระดับนี้ โดยในต่างประเทศต่างเฝ้ารอดู เพื่อศึกษาถึงขนาดและองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อจะได้เข้าใจและติดตามการโคจรต่อไปในอนาคต
ยืนยันว่าในรอบ 100 ปีนี้ดาวเคราะห์ดวงนี้จะไม่มีการชนโลกอย่างแน่นอน นอกจากนี้สำหรับผู้ที่สนใจในปี คศ. 2028 จะมีดาวเคราะห์อีกดวงเฉียดโลกเช่นกัน และเข้าใกล้โลกมากกว่าดวงนี้อีกด้วย
"การที่วัตถุหรืออุกาบาตรพุ่งชนโลกนั้นเกิดขึ้นเป็นปกติ เพียงแต่ที่มีขนาดใหญ่มาก ครั้งแรกที่เกิดขึ้นคือเมื่อ 65 ล้านปีก่อนที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ครั้งต่อมาคือเมื่อ 100 ปีที่แล้วที่ประเทศรัสเซีย มีความรุนแรงระดับระเบิดปรมาณู แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ทำให้นานาชาติจัดตั้งโครงการเฝ้าติดตามวัตถุจำพวกดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสเข้าชน โลกหลายโครงการ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ภัยคุกคามดังกล่าวลดน้อยลงไป เนื่องจากสามารถตรวจพบและมีเวลาพอที่จะทำให้เบี่ยงเบนวงโคจรรวมถึงทำลายทิ้งก่อนที่จะถึงโลก.