“ดอกส้มสีทอง”แรง โพลล์พบประชาชนชนยังคอยติดตามชม เชื่อบุตรหลานไม่มีพฤติกรรมเลียนแบบ เหตุผู้ปกครองคอยเตือน
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สาธารณชนคิดอย่างไรต่อละครโทรทัศน์ “ดอกส้มสีทอง” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยพบว่าในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 เคยติดตามชม “ดอกส้มสีทอง” บางช่วงบางตอน ในขณะที่ร้อยละ 26.5 ไม่ได้ติดตามเลย ที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 21.4 ของผู้ที่ติดตามชม มีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีและอายุต่ำสุดที่สนใจติดตามร่วมดูด้วยคืออายุ 6 ขวบเท่านั้น
จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเด็กอายุ 6 ขวบเหล่านั้นพบว่า เป็นช่วงปิดเทอมจึงนอนดึกและดูละครพร้อมไปกับผู้ปกครอง เด็กบางคนยังบอกว่า “กำลังมันเลย” เมื่อถามว่าตอนไหนที่บอกว่ากำลังมัน น่าตกใจกับคำตอบที่ได้รับคือ “ก็ตอนด่ากัน” ตอน “กอดจูบกัน” ตอน “นางเอกกำลังหาคนมานอนด้วย” เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 41.7 คิดว่าการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์เพื่อเตือนผู้ปกครอง “ป้องกันได้บ้าง”
และร้อยละ 30.5 ระบุป้องกันไม่ได้เลย เพราะ เด็กอยู่กับผู้ปกครองตลอดขณะดูละคร สภาพบ้านที่พักอาศัยไม่ได้แยกกันนอน ดูทีวีด้วยกัน และมีสื่ออื่นๆ นอกจากทีวีที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น มีเพียงร้อยละ 13.0 ที่บอกป้องกันได้ และร้อยละ 14.8 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อบุตรหลานของตนเองในการเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.9 กังวล ในขณะที่ร้อยละ 40.1 ไม่กังวล เพราะไม่มีบุตรหลาน เพราะคอยตักเตือนแนะนำ และเพราะ ห้ามดูไปเลย
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการตรวจสอบเนื้อหา
ในขณะที่ร้อยละ 35.7 ระบุปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลกันเอง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 เห็นว่าให้ตัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบางตอนออกไป และร้อยละ 6.2 ให้งดการออกอากาศทั้งเรื่อง ในขณะที่ร้อยละ 36.6 ให้ออกอากาสต่อไปตามปกติ