รศ.พิษณุ อุตตมะเวทิน รองอธิการบดีฝ่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะนักวิชาการด้านโภชนวิทยา กล่าววันที่ 26 เมษายน
ว่าในช่วงฤดูร้อนมักมีการระบาดของโรคทางเดินอาหาร และเป็นช่วงเวลาที่มีการหาไข่มดแดงมาประกอบอาหารกันมาก ไข่มดแดงถือได้ว่าเป็นอาหารพื้นเมืองที่มีคุณค่าทางอาหารและมีโปรตีนสูง มีรสชาติอร่อย และมีราคาสูงขึ้นตามความนิยมของท้องตลาด ได้รับการเรียกขานว่าเป็นอาหารชั้นสูงที่หารับประทานได้ยาก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือยังพบเห็นการบริโภคไข่มดแดงที่ไม่ได้ผ่านการทำให้สุก หรือสะอาดก่อนนำมารับประทาน ในลักษณะของก้อย หรือการบริโภคโดยตรง
ผู้บริโภคอาจเข้าใจว่าไข่มดแดงมีสีขาวสะอาดอยู่ในรังที่สูงจากพื้นดินจึงน่าจะปลอดภัยจากเชื้อโรค
โดยหลักการแล้วมดแดงที่อาศัยในรังถือเป็นแมลงชนิดที่อาศัยหากินตามพื้นดิน และยังนิยมกินซาก สิ่งสกปรก โอกาสที่เชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งสกปรกจะติดไปกับลำตัวและขาของมดแดงจะมีมาก โดยเป็นพาหะพาเชื้อโรคในลักษณะเดียวกับแมลงวัน หากไม่ได้ทำความสะอาดก่อนบริโภคจะได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย
“แม้ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนถึงการเป็นพาหะนำโรคของมดแดงที่ได้รับเชื้อที่อยู่ในตัวของมดก่อนที่จะมีการวางไข่ และทำให้เชื้อโรคปะปนแทรกตัวอยู่ในไข่ แต่ก็ควรระมัดระวัง เพราะการติดเชื้อที่รุนแรงและไม่ได้รับการดูแลรักษามีอันตรายถึงชีวิต ทางที่ดีที่สุดคือการปรุงให้สุกก่อนบริโภค"