นายอาซึชิ ฟูจิโมโตะ ประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)
เปิดเผยถึงผลกระทบล่าสุดของเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นต่อการจัดส่งชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ว่า ทำให้บริษัทฯต้องหยุดรับจองฮอนด้า บริโอ้ ชั่วคราว ภายหลังเปิดตัวเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์การจัดส่งชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นในขณะนี้ยังไม่แน่นอน ทำให้ชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการผลิตฮอนด้า บริโอ้ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่ายมิตซูบิชิ และนิสสัน ยังรับจองรถทุกรุ่นตามปกติไม่มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลง
แต่ทางด้านโตโยต้านั้นผู้แทนจำหน่ายได้งดรับจองรถจากลูกค้า เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถส่งมอบรถให้ลูกค้าได้ตามที่สัญญาจองได้ระบุไว้ และจะทำให้เกิดความเสียหายทั้งตัวดีลเลอร์ และลูกค้าก็จะเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับ ในเรื่องดังกล่าวทางผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าได้ชี้แจงกับดีลเลอร์ไปแล้วว่าเชื่อว่าปัญหานี้จะเป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้น หากโรงงานทางญี่ปุ่นคลี่คลายแล้วก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ระหว่างนี้เราก็มีธุรกิจรถมือสอง งานบริการหลังการขาย ที่ยังสามารถทำธุรกิจได้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า
ในวันที่ 3 พ.ค. นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ในการออกมาตรการช่วยเหลือหลังผลกระทบจากการลดกำลังการผลิตของโรงงานประกอบรถยนต์ 50% เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยอาจจะประสบปัญหาทางการเงินจากการยืดระยะเวลาการสั่งซื้อสินค้าของโรงงานประกอบรถยนต์ เบื้องต้นกระทรวงจะเข้ามาดูแลผู้ประกอบการ และจะประสานความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อเข้าไปช่วยเหลือด้วย
นายประสาทศิลป์ อ่อนอรรถ อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจะมีการประชุมหารือเพื่อสรุปตัวเลขความเสียหายที่ได้รับจากการที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ประกาศลดกำลังการผลิตลง 50% ว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ในเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์คงต้องลดกำลังการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในช่วง 4-12 เดือนนี้ลงอย่างน้อย 50-70% ตามกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
หลังจากนั้นคงต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะสามารถฟื้นกำลังการผลิตกลับขึ้นมาเท่าเดิมได้ทันทีหรือไม่ “ตอนนี้ก็หวั่นว่าจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤติขาดแคลนแรงงานเหมือนช่วงปี 51 เพราะพอมีการลดกำลังการผลิตลงก็ทำให้แรงงานที่อยู่ในระบบทั้งหมดประมาณ 3.5-4 แสนคนไหลออกนอกระบบ ดังนั้นต้องพยายามหามาตรการจูงใจแรงงานไม่ให้ไหลออกจากระบบเช่น ในช่วงที่หยุดการผลิตก็จะจัดอบรม ให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้แรงงานหยุดงาน”
ทั้งนี้ ปัจจุบัน สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 580 บริษัท โดยจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึง 70% หรือประมาณ 406 บริษัท
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กรมฯ จะจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรให้แก่แรงงานในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ในช่วงที่โรงงานต้องลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) หรือลดกำลังการผลิตลง โดยจะใช้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรของโครงการต้นกล้าอาชีพ ที่กรมฯ เคยดำเนินการมาแล้วในช่วงที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และร่วมมือกับสถาบันอิสระ เช่น สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันไทย-เยอรมัน และสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม.