ชงขึ้นค่าไฟฟ้าห้างฯ-ราชการ

เพิ่มอีกหน่วยละ 10 สตางค์ ชดเชยนโยบายรัฐใช้ไฟฟรี

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์  เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 เม.ย. นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาหลักการของนโยบายใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนฟรีถาวร 
   
โดยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่,  ภาคราชการ, โรงแรม, ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่,

ผู้ซื้อไฟฟ้าตรงจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคเอกชนมาช่วยรับภาระร่วมกับรัฐบาลในการจ่ายค่าไฟเพิ่มเฉลี่ย 10 สต.ต่อหน่วยแทนผู้ที่ใช้ไฟฟ้าฟรีหรือมีมิเตอร์ขนาด 5 แอมแปร์ จำนวน  7.9 ล้านครัวเรือน วงเงิน 12,000 ล้านบาทต่อปี
   
สำหรับนโยบายนี้ขอให้ประชาชนทั่วไปหรือครัวเรือนขนาดใหญ่ที่ใช้เกิน 90 หน่วยต่อเดือน สบายใจได้เพราะจะไม่กระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในกลุ่มที่อยู่อาศัยทุกประเภท และไม่กระทบต่อกิจการวิสาหกิจขนาดเล็กแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าไม่มากนัก 
   
“ในช่วงแรกเป็นการเตรียมพร้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว เรกูเลเตอร์ก็จะนำเงินที่เรียกเก็บคืนจากทั้ง 3 การไฟฟ้า คือ กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ไม่มีการลงทุนตามแผนในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะมีเงิน 9,000 ล้านบาท มาจ่ายไปก่อนแล้วหลังจากนั้นจึงจะมีการเก็บเพิ่มในลักษณะขั้น
บันได”
   
ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที)งวดใหม่ที่จะเรียกเก็บในรอบบิลเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น ตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ

ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้า รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณจากทางการเมืองว่าให้มีการตรึงค่าเอฟทีงวดใหม่ แม้จะใกล้การเลือกตั้งก็ตาม ซึ่งหากนโยบายสั่งให้ตรึง ก็คงต้องมาดูรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ถ้าดูจากทั้ง 3 ปัจจัยคือ ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยนและปริมาณการใช้ไฟที่ลดลงก็หวังว่าค่าเอฟทีจะปรับขึ้นไม่มากนัก
   
นางพัลภา เรืองรอง กรรมการเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า

หลังจากรับฟังความคิดเห็นเรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยที่จะใช้ในช่วงปี 54-58 แล้ว จะสรุปเพื่อจัดทำโครงสร้างค่าไฟใหม่หลังจากใช้โครงสร้างค่าไฟเดิมมาแล้ว 6 ปี ก่อนเสนอต่อที่ประชุม กพช. ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือน ก.ค.นี้ โดยโครงสร้างค่าไฟใหม่จะประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ  (เอฟที) เหมือนเดิม แต่จะมีการแยกให้ชัดเจนว่า ต้นทุนการผลิตของแต่ละโรงไฟฟ้า ต้นทุนสายส่ง และอื่น ๆ เป็นอย่างไร ในขณะที่ค่าไฟฟ้าเอฟทีจะเหลือเฉพาะค่าเชื้อเพลิงเท่านั้น
   
“โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ไม่ได้ทำให้ค่าไฟเปลี่ยน เพราะเป็นการเปลี่ยนภายในเพื่อแยกต้นทุนให้เห็นชัดเจน โดยปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ประมาณ 2.46 บาทต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้าเอฟทีอยู่ที่ 0.86 บาทต่อหน่วย เมื่อประกาศใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่แล้ว ค่าไฟฟ้าเอฟทีจะเป็นศูนย์ แต่ในส่วนค่าไฟฟ้าฐาน จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงสร้างใหม่จะประกาศใช้ 5 ปี และจะมีการปรับปรุงในช่วง 2 ปีแรก”.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์