“พาณิชย์” เปิดขายไข่ไก่ธงฟ้าวันละล้านฟองทั่วปท.3เดือน สั่งเอกชนห้ามส่งออกแก้ราคาพุ่ง ชี้โรคระบาด-น้ำท่วมใต้ทำพิษ
เมื่อวันที่ 19เม.ย. นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยหลังหารือร่วมกับผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อแก้ปัญหาไข่ไก่ราคาแพงว่าผู้ประกอบการไข่ไก่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการจัด โครงการไข่ไก่ธงฟ้าแก้ปัญหาไข่แพง โดยนำไข่ไก่เบอร์ 3 จากผู้ผลิตมาขายสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศวันละ 1 ล้านฟอง ในราคาถูกกว่าท้องตลาดฟองละ 20-30 สตางค์ หรือปัจจุบันฟองละ 3.20-3.30 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามต้นทุน และคาดว่าต่างจังหวัดจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ส่วนในกรุงเทพฯ จะเริ่มได้ในวันที่ 21-22 เม.ย.ซึ่งจะขายตามตลาดสด ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดอ่อนนุช ตลาดมีนบุรี
นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการไข่ไก่ให้หยุดการส่งออกชั่วคราวจนกว่าผลผลิตในประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ช่วงเดือนต.ค.
ซึ่งถือเป็นมาตรการห้ามการส่งออกเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่ได้ขอความร่วมมือให้งดส่งออก 2 เดือนเท่านั้น เนื่องจากตอนนี้ผลผลิตไข่ไก่ลดลงวันละประมาณ 3 ล้านฟอง เหลือ 21-22 ล้านฟอง จากภาวะปกติวันละ 25 ล้านฟอง แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ทำสัญญากับลูกค้าต่างประเทศไว้แล้ว ยังสามารถส่งออกได้ตามสัญญาได้
“ผลผลิตไข่ไก่เสียหายมาก เพราะเกิดโรคระบาดในไก่ ประกอบกับ ฟาร์มเลี้ยงไก่ในภาคใต้หลายแห่งเสียหายจากน้ำท่วม อีกทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น แล้วยังจะต้องมีต้นทุนที่จะต้องบำรุงรักษาโรคไก่ เงินทุนฟื้นฟูฟาร์ม เลยทำให้ราคาไข่ไก่คละ หน้าฟาร์มสูงขึ้นจากเดือนมี.ค.ถึงฟองละ 10-20 สตางค์ มาอยู่ที่ฟองละ 3.10-3.20 บาท และเมื่อคิดเป็นราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 จะตกที่ฟองละ 3.50-3.60 บาท แต่ราคานี้ผู้เลี้ยงมีกำไรแค่ 10% เท่านั้น“
นางวัชรีกล่าวว่า กรมการค้าภายใน ได้ออกประกาศราคาแนะนำไข่ไก่ เพื่อให้ผู้ซื้อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ
โดยราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 3.10-3.20 บาท เมื่อคัดแยกตามขนาด จะทำให้ราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 0 อยู่ที่ฟองละ 3.90-4.00 บาท เบอร์ 1 ฟองละ 3.70-3.80 บาท เบอร์ 2 ฟองละ 3.60-3.70 บาท เบอร์ 3 ฟองละ 3.50-3.60 บาท เบอร์ 4 ฟองละ 3.40-3.50 บาท และเบอร์ 5 ฟองละ 3.30-3.40 บาท
ขณะเดียวกัน กรมการค้าภายใน เตรียมนำสินค้าปลาป่น
ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เข้าอยู่ในบัญชีสินค้าที่ต้องติดตามดูแลเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพราะราคาเดือนเม.ย.นี้สูงขึ้นมากจากช่วงต้นปีมาอยู่ที่ กก.ละกว่า 30 บาท และเพิ่งลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่กก.ละ 42 บาท ซึ่งเกิดสึนามิในญี่ปุ่น ทำให้จับปลาได้น้อย โดยปลาป่น คิดเป็นสัดส่วนที่จะต้องใช้ในอาหารสัตว์ 7% หรือราคาปลาป่นที่ขึ้นทุกๆ 1 บาท จะทำให้ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 7 สตางค์ และทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไข่ไก่เพิ่มขึ้น 10 สตางค์
นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ขณะนี้ ต้นทุนเลี้ยงไก่ทุกอย่างสูงขึ้นหมด โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากต้นปีถึงกก.ละ 1 บาท ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเพิ่มราคาขายชดเชยกับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยเคยบริโภคไข่ไก่ราคาถูกมานาน เมื่อราคาสูงขึ้นบ้างก็โวยวาย แต่ไม่นึกถึงเกษตรกรรายย่อย ที่ขาดทุนจนเจ๊งไปมากแล้ว