ระวังเปิบหอยนางรมสดติดเชื้อโรคถึงตายแนะต้องทำให้สุก

"กินหอยนางรมสด ติดเชื้อในกระแสโลหิตได้"


สธ.เตือนภัยนักเปิบอาหารทะเลสุกๆ ดิบๆ พบกินหอยนางรมสดเสี่ยงสุด ติดเชื้อทางกระแสโลหิต กระเพาะอาหาร-ลำไส้อักเสบ มีอันตรายถึงตาย

พบแบคทีเรียต้นเหตุ วิบริโอ วัลนิฟิคัส อยู่ในน้ำทะเล น้ำกร่อย เผย 5 ปี พบผู้ติดเชื้อในกระแสโลหิตแล้ว 56 คน แนะลดความเสี่ยงต้องกินอาหารทะเลสุก มีบาดแผลไม่ควรลงน้ำทะเล

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยผู้บริโภคว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงองค์การอนามัยโลก ได้เฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ในกลุ่มที่มีชื่อว่า วิบริโอ (Vibrio) ในประเทศไทย พบมีผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemoliticus) สูงเป็นอันดับหนึ่ง พบได้ปีละประมาณ 1,000-2,000 คน เกิดมาจากการรับประทานอาหารทะเลสุกๆ ดิบๆ ทำให้อุจจาระร่วงและอาเจียน

"โลหิตเป็นพิษ ติดเชื้อมีโอกาสรอดร้อยละ 15"


ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มนี้อีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญและมีอันตรายมากที่สุดคือ เชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส (Vibrio vulnificus) ซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ มีอันตรายมากที่สุดพบได้ร้อยละ 43 หลังติดเชื้อมีโอกาสรอดเพียงร้อยละ 15

ทั้งนี้ ผู้ป่วยได้รับเชื้อตัวนี้จากการรับประทานอาหารทะเลดิบ ที่นิยมกันมากคือ หอยนางรม เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด โดยผ่านเยื่อบุทางเดินอาหาร และเข้าทางบาดแผล เชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการอักเสบ ไข้หนาวสั่น อ่อนเพลีย อาจมีอาการอุจจาระร่วง อาเจียน หากติดเชื้อทางบาดแผลจะทำให้แผลอักเสบ เจ็บปวด อาจกลายเป็นตุ่ม เนื้อเยื่ออ่อนใต้ผิวหนังเน่าตาย พบได้ร้อยละ 45 และมีโอกาสตายร้อยละ 50

ที่ผ่านมายังมีประชาชนมีความเชื่อว่าน้ำทะเลจะไม่มีเชื้อโรคเนื่องจากเค็ม บางรายที่มีแผลหรือมีอาการผดผื่นคันเมื่อลงไปแช่ในน้ำทะเลแล้วจะหายจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้แผลเกิดการอักเสบได้ น.พ.ปราชญ์ กล่าว

"พบติดเชื้อเป็นจำนวนมาก"


น.พ. ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่ปี 2544-สิงหาคม 2549 พบผู้ติดเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส ในกระแสโลหิต 56 ราย โดยพบในภาคกลางมากที่สุด 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 61 พื้นที่ที่พบมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 12 ราย รองลงมาคือ จันทบุรี 11 ราย ราชบุรี 4 ราย สระบุรี 3 ราย ฉะเชิงเทรา 2 ราย สระแก้วและเพชรบุรีจังหวัดละ 1 ราย รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้พบเท่ากัน 9 ราย พบมากที่ จ.อุบลราชธานี 5 ราย อำนาจเจริญและอุดรธานี จังหวัดละ 2 ราย

ส่วนภาคใต้พบมากที่ จ.สงขลาและพังงา จังหวัดละ 3 ราย ภาคเหนือพบ 4 ราย ที่ จ.เพชรบูรณ์และลำปาง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอายุ 35-54 ปี เป็นชายมากกว่าหญิงในอัตรา 3 ต่อ 1 พบผู้ป่วยได้ตลอดปี แต่จะพบมากในเดือนธันวาคมและเดือนมิถุนายน

หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในจังหวัดฝั่งอันดามัน เมื่อปลายปี 2547 เป็นต้นมา จากการติดตามผลกระทบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548-สิงหาคม 2549 พบว่าไม่มีผลกระทบ จำนวนผู้ป่วยในเขตภาคใต้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เฉพาะในปี 2549 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยติดเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส ในกระแสโลหิตจำนวน 6 ราย โดยพบที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า จ.พังงา 2 ราย โรงพยาบาลพระจอมเกล้า เพชรบุรี 1 ราย โรงพยาบาลอำนาจเจริญ 1 ราย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 1 ราย โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 1 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 5 ราย รอดเพียง 1 ราย อัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 83 โดยจากการสอบสวนประวัติผู้เสียชีวิต 3 รายโดยละเอียด พบว่าส่วนใหญ่จะมีประวัติเคยดื่มสุราและติดสุรา เป็นโรคตับแข็งมาก่อน

"พบมากในสัตว์ทะเลที่มีเปลือก"


พร้อมยืนยันว่า เชื้อแบคทีเรียวิบริโอ วัลนิฟิคัส ไม่ใช่เชื้อโรคใหม่ พบได้ทั่วโลก โดยเชื้อนี้อยู่ในตระกูลเชื้อวิบริโอ ซึ่งก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร พบเชื้อนี้มากในช่วงฤดูร้อนทุกปี โดยจะแสดงอาการโลหิตเป็นพิษหลังรับเชื้อภายในเวลา 12 -72 ชั่วโมง เฉลี่ย 16 ชั่วโมง และทำให้แผลติดเชื้ออักเสบภายใน 4 ชั่วโมง ถึง 4 วัน เฉลี่ย 12 ชั่วโมง การรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือ การกินอาหารทะเลดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ ก็เป็นได้ และเข้าทางบาดแผล แม้จะแค่เพียงรอยถลอกก็ตาม เช่น ประสบอุบัติเหตุทางเรือ

นอกจากนี้ ยังพบว่าคนที่เสี่ยงคือ คนแกะเปลือกหอย ชาวประมง เชื้อดังกล่าวมักจะอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บริเวณปากน้ำหรือน้ำกร่อย และสามารถพบได้ในสัตว์ทะเลที่มีเปลือก โดยเฉพาะหอยนางรม กลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อนี้เข้าสู่กระแสโลหิต ได้แก่ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ไวรัสตับอักเสบ โรคเลือด เบาหวาน ซึ่งอาการจะรุนแรงทำให้เชื้อแพร่กระจายทำลายอวัยวะต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

"มีบาดแผลไม่ควรสัมผัสน้ำทะเล"


การป้องกันที่ดีที่สุด น.พ.ธวัช แนะว่า ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลดิบทุกชนิด โดยเฉพาะหอยนางรมสด ต้องทำให้สุกก่อนจะรับประทาน หากมีบาดแผล ไม่ควรสัมผัสน้ำทะเลหรือน้ำกร่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพแกะเปลือกหอย จะต้องสวมถุงมือยางหนาๆ ป้องกันเปลือกหอยบาดด้วย

ทั้งนี้หอยนางรมที่มีผู้บริโภคกันมาก โดยเฉพาะหอยนางรมพันธุ์ใหญ่หรือหอยตะโกรม เกือบทั้งหมดเป็นหอยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงโดยอาศัยธรรมชาติ หอยจะกรองกินพืชน้ำขนาดเล็กที่แขวนลอยในแหล่งน้ำเค็มเป็นอาหารหลัก ซึ่ง มักพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่รับประทานหอยนางรมสด ก่อให้เกิดไวรัสตับอักเสบ เนื่องจากบริเวณที่เลี้ยงอาจมีการปนเปื้อนน้ำเสียหรือขยะ หรือมีสารพิษโลหะที่ปะปนมากับน้ำจืด ก่อนลงทะเลบริเวณปากน้ำที่เลี้ยงหอย ที่สำคัญอาจทำให้ติดเชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส เกิดโลหิตเป็นพิษและเสียชีวิตได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์