สงกรานต์วันที่หกสังเวยแล้ว 299 ราย "นครสวรรค์" แชมป์ 13 ศพ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยาตามติด 11 ศพ
วันนี้ (17 เม.ย.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย. ว่า เกิดอุบัติเหตุทางถนน 348 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 41 คน ผู้บาดเจ็บ 386 คน รวมสะสม 6 วัน (11 – 16 เม.ย.54) เกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม 2,932 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 229 คน ผู้บาดเจ็บรวม 3,172 คน
โดย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เม.ย.2554 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ "สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์" เกิดอุบัติเหตุ 348 ครั้ง เท่ากับวันเดียวกันของปี 2553 ผู้เสียชีวิต 41 คน เทียบกับวันเดียวกันของปี 2553 (45 คน) ลดลง 4 คน ร้อยละ 8.89 ผู้บาดเจ็บ 386 คน เทียบกับวันเดียวกันของปี 2553 (370 คน) เพิ่มขึ้น 16 คน ร้อยละ 4.32
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 31.03 พฤติกรรมเสี่ยงของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด ร้อยละ 34.66
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.87 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 57.18 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.49 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.77 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.74 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 20 – 49 ปี) ร้อยละ 47.07
สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 19 ครั้ง รองลงมา ตรัง 15 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 6 คน รองลงมา กาฬสินธุ์ 4 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 22 คน รองลงมา ได้แก่ ตรัง 17 คน
ทั้งนี้ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,505 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 70,462 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 722,408 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 100,312 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 31,198 ราย ร้อยละ 31.10 รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 29,162 ราย ร้อยละ 29.07
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (วันที่ 11 – 16 เม.ย. 54) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,932 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (3,218 ครั้ง) 286 ครั้ง ร้อยละ 8.89 ผู้เสียชีวิตรวม 229 คน ลดลงจากปี 2553 (306 คน) 77 คน ร้อยละ 25.16 ผู้บาดเจ็บรวม 3,172 คน ลดลงจากปี 2553 (3,502 คน) 330 คน ร้อยละ 9.42 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสูด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 129 ครั้ง รองลงมา เชียงราย นครสวรรค์ จังหวัดละ 107 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 13 คน รองลงมา กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 11 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 137 คน รองลงมา เชียงราย 114 คน
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า แม้วันที่ 17 เม.ย. จะเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 แต่ยังอยู่ในช่วงการเดินทางกลับของพี่น้องประชาชนศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 จึงได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามมาตรการและข้อสั่งการในการสร้างความปลอดภัยทางถนนของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอย่างเคร่งครัด มุ่งเน้นการสร้างความปลอดภัยในการเดินทางควบคู่กับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเข้มงวดรถโดยสารสาธารณะที่เดินทางระยะไกลและใกล้ถึงจุดหมายเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันพนักงานขับรถมีอาการอ่อนล้าและอาจเกิดการหลับใน
รวมถึงรถตู้โดยสารซึ่งผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วสูง ตลอดจนรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก และตอนท้ายไม่มีหลังคาหรือบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด มิให้ใช้ความเร็วสูง เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น สำหรับจังหวัดที่ยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ ให้ดูแลการเล่นน้ำสงกรานต์ให้อยู่ในกรอบประเพณีและมีความปลอดภัย พร้อมทั้งควบคุมมิให้มีการดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
"ท้ายนี้จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันสุดท้ายของการเดินทางมักมีสาเหตุจากการง่วงแล้วขับ จึงขอฝากเตือนผู้ขับขี่ให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการขับรถติดต่อกันเป็นเวลานานและหยุดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน จุดบริการ จุดพักรถริมข้างทาง ทุกระยะ 150 กิโลเมตร หรือทุก 2 ชั่วโมง เพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หากมีอาการง่วงนอน ให้ทานของขบเคี้ยวที่มีรสเปรี้ยว เคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มเครื่องดื่มที่แช่เย็น และเปิดหน้าต่างรถ เพื่อถ่ายเทอากาศ จะช่วยคลายอาการง่วงนอนลงได้หรือจอดแวะพักตามจุดบริการที่ภาครัฐได้จัดตั้งตามเส้นทางสายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยทางถนนแก่พี่น้องประชาชนตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้" นายวิบูลย์ กล่าว