เกาหลีใต้สั่งปิดรร.หนีกัมมันตรังสีญี่ปุ่น


เกาหลีใต้ ปิดโรงเรียนประถมและอนุบาลกว่า 100 แห่ง เพราะวิตกต่อสารกัมมันตรังสี

 ด้านคนงานเทปโก้ฉีดก๊าซไนโตรเจนเข้าคอนเทนเมนต์ครอบเตาปฏิกรณ์เพื่อป้องกันการระเบิด ขณะยุ่นเล็งอนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่อพยพรอบโรงไฟฟ้ากลับเข้าบ้านได้ช่วงสั้นๆ

(7เม.ย.) โรงเรียนประถมและอนุบาลกว่า 130 แห่ง ในเกาหลีใต้ ได้ยกเลิกการเรียนการสอนในวันนี้ในขณะที่ทางการพยายามขจัดความหวาดกลัวฝนปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ฟุ้งกระจายออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น โดยโรงเรียนเหล่านี้ อยู่ที่จังหวัดเกียงงี ซึ่งอยู่รอบนอกกรุงโซล ซึ่งบางโรงเรียนก็ยกเลิกการเรียนการสอนไปเลย หรือบางโรงเรียนก็ตัดลดเวลาการเรียนลงตามคำสั่งของสำนักงานศึกษาจังหวัด หลังเริ่มมีฝนตก


โฆษกสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ได้เรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นมาตรการชิงลงมือก่อนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน และได้แจ้งไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ตั้งแต่วันพุธแล้วว่า ให้ยกเลิกหรือลดเวลาเรียนลง เนื่องจากความวิตกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในหมู่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่หวาดกลัวความไม่ปลอดภัยถ้าได้รับสารกัมมันรังสี
 
 บรรดาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่นักเรียนต้องเดินไปเรียนกันเป็นระยะทางยาวๆนั้น ได้รับคำแนะนำให้ยกเลิกการเรียนการสอนไปเลย ส่วนโรงเรียนที่ยังเปิดอยู่ ก็ได้รับคำแนะนำให้สอนกันแต่เฉพาะภายในห้องเรียน

 ทั้งนี้ มีพ่อแม่จำนวนมาก ได้เข้าไปร้องเรียนในเว็บไซท์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่ยอมยกเลิกการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองความวิตกของพวกเขา ซึ่งมีบางคน บอกว่า กลัวลูกจะตายจนนอนไม่หลับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาในเขตชองเชือง ทางใต้ของจังหวัดเกียงงี ได้เลื่อนการแข่งขันฟุตบอล เบสบอลและการแข่งขันกีฬาอื่น ๆ

 ความวิตกในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ญี่ปุ่นมากที่สุด ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะหลังจากสำนักงานพยากรณ์อากาศ ระบุเมื่อวันจันทร์ว่า สารกัมมันตรังสีที่แพร่ออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิม่า ไดอิชิ อาจจะถูกลมพัดเข้าไปยังคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่า สารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนในน้ำฝน มีจำนวนน้อยเกินกว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเรียกร้องให้หน่วยงานด้านการศึกษาต่าง ๆ พยายามไม่ทำให้บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง เครียดเพราะความวิตกต่อเรื่องนี้ 
 
 ด้านคนงานของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือเทปโก้ได้เริ่มฉีดก๊าซไนโตรเจนเข้าไปยังคอนเทนเมนต์ที่ครอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิในเช้าวันนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซไฮโดรเจนที่ก่อตัวขึ้นและสะสมอยู่ในคอนเทนเมนต์ที่ครอบเตาปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นถึงระดับที่ทำปฏิกิริยารุนแรงกับก๊าซออกซิเจนจนเกิดการระเบิด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นจนทำให้อาคารเตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหาย ปล่อยไอกัมมันตรังสีฟุ้งออกจากโรงไฟฟ้าฯ

 การอัดฉีดก๊าซไนโตรเจน ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยเข้าไปในคอนเทนเมนต์ที่ครอบเตาปฏิกรณ์เพื่อให้เข้าไปแทนที่ก๊าซออกซิเจน จะได้ไม่ทำปฏิกิริยารุนแรงกับก๊าซไฮโดรเจน และตามแผนการจะใช้ก๊าซไนโตรเจนรวม 6,000 ตันและคาดว่าจะดำเนินการเสร็จใน 6 วัน เทปโก้ยังกำลังตัดสินใจด้วยว่าอาจจะฉีดก๊าซไนโตรเจนในคอนเทนเมนต์ของเตาหมายเลข 2 และ 3 ที่เคยเกิดการระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนจนได้รับความเสียหายด้วย

 สำนักงานความปลอดภัยอุตสาหกรรมและนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอันตรายที่จะเกิดการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ และย้ำว่าการฉีดก๊าซไนโตรเจนเป็นเพียงมาตรการป้องกันล่วงหน้าเท่านั้น

 ส่วนความพยายามหยุดการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังเข้มข้นสูงลงสู่ทะเลประสบความสำเร็จอย่างดี หลังใช้โซเดียม ซิลิเกต หรือแก้วเหลวอุดรอยแตกที่ท่อเดินสายไฟใต้ดินข้างใต้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ที่อยู่ใกล้กับชายฝั่ง ทำให้น้ำหยุดรั่วไหลเมื่อเช้าวันพุธ ขณะเดียวกันคนงานยังคงเร่งระบายน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับต่ำลงสู่ทะเล เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับกักเก็บน้ำปนเปื้อนเข้มข้นที่ยังคงท่วมขังในหลายจุดรวมหลายหมื่นตัว

 รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่อพยพรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะกลับเข้าไปช่วงสั้นๆเพื่อตรวจดูบ้านและเก็บข้าวของจำเป็นออกมา หลังจากต้องทิ้งบ้านเรือนอพยพออกไปเกือบหนึ่งเดือนแล้วนับจากเกิดวิกฤติที่โรงไฟฟ้า แต่กำลังศึกษาแนวทางที่จะรับประกันความปลอดภัยแก่ชาวบ้านที่กลับเข้าไปในพื้นที่

 นอกจากนี้มีรายงานว่ารัฐบาลกำลังทบทวนมาตรการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ โดยระบุว่าสถานการณ์การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีเปลี่ยนไปจากช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ และมาตรการปัจจุบันที่กำหนดให้ประชาชนในพื้นที่ 20 ก.ม. รอบโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ อพยพออกจากพื้นที่และให้คนที่อยู่ในระยะ 30 กม.อยู่แต่ในบ้านนั้นเหมาะสมกับการป้องกันการรับสารกัมมันตรังสีในระยะสั้นเท่านั้น และหากจะมีการปรับขยายพื้นที่อพยพก็เพื่อการป้องกันในระยะยาว
 
 ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดไว้ว่าหากมีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีมากกว่า 50 มิลลิซีเวิร์ต ก็จะสั่งให้มีการอพยพประชาชน และ หากพบสารกัมมันตรังสีประมาณ 10 มิลลิซีเวิร์ต ก็จะแนะนำให้ประชาชนอาศัยอยู่แต่ในบ้าน

 ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ด้านผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีของสหประชาชาติจะทำการศึกษาและรวบรวมรายงานเรื่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนงานเทปโก้และประชาชนจากอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์