“จุรินทร์” เผยส่งยาช่วยจังหวัดน้ำท่วมภาคใต้แล้ว 1.5 แสนชุด วันนี้ส่งเพิ่มให้สุราษฎร์ธานีอีก 20,000 ชุด สำรองไว้อีก 1 แสนชุด
วันนี้ 2 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ว่า วันนี้ ความเสียหายยังอยู่ใน 8 จังหวัด 82 อำเภอ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง พังงา ชุมพร และสงขลา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติรายงานมีผู้เสียชีวิต 38 ราย ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช 17 ราย จ.สุราษฎร์ธานี 8 ราย กระบี่ 7 ราย พัทลุง ตรัง และชุมพร จังหวัดละ 2 ราย สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดได้รับผลกระทบใน 6 จังหวัด รวม 104 แห่ง ประกอบด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 5 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 94 แห่ง
สำหรับโรงพยาบาลชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม 4 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่ถูกน้ำท่วมต้องปิดให้บริการ
วันนี้เปิดบริการได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่แผนกผู้ป่วยนอกและห้องฉุกเฉินบางส่วน เครื่องปั่นไฟยังใช้การไม่ได้ 2.โรงพยาบาลขนอม จ.นครศรีธรรมราช น้ำท่วมบ้านพัก 3.โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี น้ำท่วมทางเข้าโรงพยาบาล และ4.โรงพยาบาลท่าโรงช้าง น้ำท่วมสูง ต้องปิดให้บริการ ส่วน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 94 แห่งในจำนวนนี้ปิดให้บริการ 16 แห่งใน 3 จังหวัด คือที่จ.นครศรีธรรมราช 1 แห่ง จ.สุราษฎร์ธานี 7 แห่ง และจ.ตรัง 8 แห่ง
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตควบคู่กันไป
ตั้งแต่วันที่ 26-31 มีนาคม 2554 ออกหน่วย 714 ครั้ง มีผู้รับบริการรวม 12,873 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า รองลงมาคือผิวหนังเป็นผื่นคัน และไข้หวัด และทีมจิตเวชจากรพ.สงขลา ออกเยี่ยมญาติผู้เสียชีวิตที่อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยประเมินปัญหาสุขภาพจิต 12 ราย พบมีความเครียดสูง 2 ราย เสี่ยงเป็นโรคจิตเวช 3 ราย ทีมสุขภาพจิตได้ให้คำปรึกษาและจะติดตามดูแลต่อเนื่อง โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งยาชุดน้ำท่วมให้ 8 จังหวัดภาคใต้แล้ว 150,000 ชุด และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 100,000 ชุด ในวันนี้ จะส่งให้จ.สุราษฎร์ธานีเพิ่มอีก 20,000 ชุด
สำหรับจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยแม้ว่าจะยังไม่เกิดอุทกภัย ได้สั่งการเป็นนโยบายให้จัดทำแผนการเฝ้าระวัง
โดยเฉพาะสถานพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง ทำแผนป้องกันน้ำท่วม แผนสำรองเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ แผนเคลื่อนย้ายส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่จำเป็น รวมทั้งการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในกรณีที่สถานพยาบาลเปิดให้บริการไม่ได้ และได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นจุดเสี่ยงดินถล่ม ทำงานร่วมกับสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการในจุดอพยพ และให้รพ.ในพื้นที่เสี่ยงเตรียมความพร้อมรองรับผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน พร้อมรับหากเกิดเหตุดินถล่มตลอด 24 ชั่วโมง
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า เช้าวันนี้ มีเด็กชายอายุ 8 ปี ป่วยเป็นไข้ ชักเกร็ง รักษาอยู่ที่รพ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ขณะนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำลังประสานจัดหาเฮลิคอปเตอร์ส่งรักษาต่อที่รพ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากถนนถูกน้ำท่วมสูง ไม่สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ได้.