“ในหลวง-พระราชินี”ทรงห่วงพสกนิกร ใต้อ่วม เกาะเต่าวิกฤติอาหารเริ่มขาด เหยื่อน้ำท่วมดับแล้ว 21 ศพ
เมื่อเวลา 04.00น. วันที่ 1 เม.ย. กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ลักษณะอากาศทั่วไประบุว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร มีอุณหภูมิสูงขึ้นและเข้าสู่สภาวะหน้าร้อนตามปกติ สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคใต้ และอ่าวไทยทำให้ภาคใต้มีฝนกระจาย ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง
"ในหลวง-พระราชินี"ทรงห่วง
ก่อนหน้านั้นที่กองการบินกรมการขนส่งทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.กระบี่ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ประสบปัญหาอุทกภัย เพื่อตรวจเยี่ยมและนำสิ่งของไปบรรเทาทุกข์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้จะเข้าไปดูแลเรื่องการบริหารจัดการของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้มีการจัดศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเริ่มเกิดอุทกภัย โดยขณะนี้ได้รับรายงานว่ามี 8 จังหวัด 10 อำเภอ ซึ่งรวมประชาชนกว่าหลายแสนคนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ในส่วนของกองทัพบกได้สั่งการลงไปให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก กองทัพภาคที่ 4 ได้เข้าไปดูแลในเรื่องของการจัดสรร กำลังพลและยุทโธปกรณ์ รวมทั้งถุงยังชีพที่พี่น้องประชาชนได้ร่วมกันบริจาค และส่งไปเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถท่านทรงเป็นห่วงประชาชนและพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอกภัยในครั้งนี้ ซึ่งท่านทรงพระราชเงินส่วนหนึ่งผ่านสภากาชาดไทยและผมคิดว่าพระองค์ท่านคงส่งความห่วงใยไปถึงประชาชนทุกคนที่ยากลำบากในขณะนี้ และในส่วนของราชวงศ์อื่นๆด้วยทุกพระองค์ก็เป็นห่วง เพราะเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรงมากกว่าครั้งที่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นความเดือดร้อนในระยะยาว และอีกเรื่องหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงเป็นห่วง คือ อาชีพของประชาชนที่ทำสวนยางพาราและสวนปาล์ม ซึ่งอาจจะเสียหายมากซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
พระราชทานถุงยังชีพแก่ชาวตรัง
ที่วัดแจ้ง ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง นายดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้แทนพระองค์นำสิ่งของพระราชทานไปให้ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในท้องที่จังหวัดจังหวัดตรัง ประกอบด้วยพื้นที่ตำบลนาบางรัก ตำบลนาท่าเหนือ ตำบลนาท่าใต้ ตำบลหนองตรุด ตำบลนาตาล่วง คำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จำนวน 1,000 ชุด สร้างความปลาบปลื้มในพะกรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของราษฎรเป็นอย่างมาก
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดตรัง ขณะนี้ประสบภัยครบทั้ง 10 อำเภอ ในพื้นที่ 68 ตำบล 5 เทศบาล 499 หมู่บ้าน มีราษฎรประสบภัยแล้ว 28,435 ครัวเรือน หรือ 51,865 คน โดยมีแนวโน้มสถานการณ์ ในช่วงต่อไป ระดับน้ำในพื้นที่แนวเทือกเขาบรรทัด บริเวณ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จะเพิ่มสูงขึ้นในบริเวณลุ่มริมฝั่งแม่น้ำตรังของ อ.วังวิเศษ อ.เมืองตรัง อ.สิเกา อ.กันตัง ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากแนวเทือกเขาบรรทัด และจาก จ.นครศรีธรรมราช ส่วนสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม มีพนังกั้นแม่น้ำตรังชำรุด 2 จุด คือ บริเวณ หมู่ .6 ต.บางรัก และ หมู่ 2 ต.หนองตรุด อ.เมืองตรัง โดยได้อพยพราษฎรไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว
สุราษฎร์ธานีอ่วม 19 จังหวัดจมบาดาล
สถานการณ์น้ำทั้ง 19 อำเภอของ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ยังถือว่าอยู่ในระดับวิกฤติ เนื่องจากสภาพฝนที่ตกลงมาไม่หยุดและมีน้ำป่าจาก จ.นครศรีธรรมราช และ จ.กระบี่ ไหลบ่าลงมาสมทบ โดยการอพยพประชาชนมีตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนโดยเฉพาะในพื้นที่ ชัยบุรี พระแสง บ้านนาเดิม เคียนซา และ อ.พุนพิน ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำก่อนน้ำจากแม่น้ำตาปีจะไหลลงสู่อ่าวไทยทำให้ระดับน้ำในคลองพุมดวงซึ่งเป็นคลองสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และไหล่บ่าเข้าท่วมถนนสาย เอเซีย 41 ตั้งแต่หนองขรี ต.หนองไทร ไปจนถึงแยก กม. 18 ระยะทางประมาณ 10 กม. ทำให้การสัญจรเส้นทางล่องใต้ต้องตัดขาดไปอีกครั้งรวมถึงได้ไหลเข้าท่วมโรงพยาบาลท่าโรงช้าง เจ้าหน้าที่ต้องขนย้ายผู้ป่วยขึ้นไปอยู่ชั้น 2 ของตัวอาคาร เนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่
กาญจนดิษฐ์ภูเขาถล่มซ้ำ
ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายอำเภอที่ติดอยู่ในบ้านกลางน้ำป่าท่วมสูงและเชี่ยวกราก ร้องขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปรับออกมา เนื่องจากไม่มีเรือและขาดอาหารมาหลายวัน เช่น ที่ ต.สองแพรก อ.ชัยบุรี ต.บางสวรรค์ อ.พระแสงนับร้อยครัวเรือน และที่ ต.คลองสระ อ.กาญจนดิษฐ์ ถูกภูเขาถล่มปิดทางออกมาไม่ได้อีกร่วม 50 ครัวเรือน 170 คนโดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่สามารถเข้าไปได้ โดยสรุปปัญหาที่พบคือเรือท้องแบนไม่เพียงพอ และการขาดแคลนน้ำและอาหารของผู้ประสบภัยที่การเข้าช่วยเหลือเข้าถึงยาก
ทั้งนี้นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผวจ.สุราษฎร์ธานี ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม พร้อมรับประทานได้ทันทีเข้าช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนและสั่งอพยพประชาชนในพื้นที่ล่อแหลมออกไปในจุดที่ปลอดภัย โดยเฉพาะที่ อ.พระแสง เวียงสระ เคียนซา พุนพิน เนื่องจากมีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเน้นดูแลความปลอดภัยแก่ชีวิตเป็นหลัก
ทหารเดินเท้าเข้าค้นหาเหยื่อดินถล่ม
ส่วนกรณีได้เกิดดินถล่มในพื้นที่บ้านห้วยหอย หมู่ 10 ต.คลองสระ อ.กาญจนดิษฐ์ เบื้องต้นทราบว่ามีผู้สูญหายไปประมาณ 5 คน แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปตรวจสอบและช่วยเหลือได้ ล่าสุด พล.ต.สนอง บุญซื่อ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี จัดส่งทหารจาก ร.25 พัน 3 จำนวน 20 นาย ร่วมกับตำรวจ สภ.กาญจนดิษฐ์ และผู้นำชุมชน เดินเท้าเข้าไปยังจุดเกิดเหตุระยะทางประมาณ 5 กม. เนื่องจากถนนถูกตัดขาด คอสะพานชำรุด
สะพานข้ามแม่น้ำตาปีทรุด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าล่าสุด มีรายงานว่า ตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำตาปี บนถนนสายเซาร์เทิอร์น เส้นทางกระบี่ขนอม ช่วงเขตรอยต่อ อ.บ้านนาเดิม-อ.เคียนซา ได้เกิดทรุดตัวลงประมาณ 1 เมตร โดยคาดว่าสาเหตุมาจากกระแสน้ำในแม่น้ำตาปีที่เชี่ยวกราก และดินอ่อนตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทางหลวง อย่างไรก็ตามได้มีการปิดเส้นทางดังกล่าว 1 ช่องทางโดยเปิดให้ใช้สะพานเพียงตัวเดียวเท่านั้น.