นายคุสซา มุสซา รัฐมนตรีต่างประเทศลิเบีย กล่าวระหว่างการเดินทางเยือนประเทศอังกฤษวานนี้ว่า เขาลาออกจากรัฐบาลของพ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี เรียบร้อยแล้ว และกล่าวว่า "เขาไม่ปรารถนาที่จะทำงาน" ให้แก่นายกัดดาฟึอีก
โดยกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า "เราสามารถยืนยันได้ว่านายมุสซา คุสซา เดินทางมาจากประเทศตูนิเซีย ถึงสนามบินฟาร์นเบอเรอะห์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 ที่ผ่านมา โดย"ปราศจากภาระใดๆ" เขาบอกกับเราว่าเขากำลังลาออกจากตำแหน่ง และขณะนี้เราอยู่ระหว่างการพูดคุยกับเขา และจะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในภายหลัง"
ก่อนหน้านี้ นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเคยกล่าวว่า นักการทูตลิเบีย 5 รายถูกขับออกจากประเทศ หนึ่งในนั้นรวมถึงทูตทหารรายหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอังกฤษ
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯรายหนึ่งแสดงความยินดีต่อข่าวการลาออกของนายคุ สซา โดยกล่าวว่านี่เป็นสัญญาณว่า"บุคคลที่ใกล้ชิด"กับนายกัดดาฟีกำลังระส่ำระสาย
ขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลิเบียถอยร่นออกจากแนวรบสำคัญ หลังถูกกองกำลังที่ภักดีต่อผู้นำลิเบียเดินหน้าถล่มเข้าใส่อย่างหนักหน่วง
กองกำลังรัฐบาลลิเบียเดินหน้าบดขยี้ฝ่ายต่อต้านในเมืองราสลานุฟ ห่างจากเมืองเซิร์ท เมืองบ้านเกิดของนายกัดดาฟีไปทางตะวันออก 300 กม. และเมืองเบรกา โดยใช้ทั้งรถถังและระดมยิงขีปนาวุธถล่ม จนฝ่ายต่อต้านต้องล่าถอย
ในเวลาต่อมาเกิดการโจมตีทางอากาศขึ้น ห่างจากเมืองอัจดาบิยาเพียง 10 กม. ก่อให้เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ขณะที่นักรบฝ่ายต่อต้าน เรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านกองกำลังทางอากาศเพื่อโจมตีรถถังและอาวุธหนัก ของกองทัพนายกัดดาฟี อีกทั้งเรียกร้องให้ชาติตะวันตกเร่งติดอาวุธให้แก่พวกตน
แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ฝ่ายต่อต้านกำลังตกเป็นรองกองกำลังของรัฐบาลลิเบียอย่างชัดเจน หลังจากก่อนหน้านี้ กลุ่มกบฏพยายามรุกคืบไปทางตะวันตกของประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังพันธมิตรนานาชาติ จนสามารถเคลื่อนเข้าใกล้เมืองเซิร์ต ซึ่งเป็นบ้านเกิดของกัดดาฟี และเป็นเมืองหน้าด่านที่จะเข้าสู่กรุงตริโปลีด้วย
ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศอยู่ระหว่างพิจารณาจัดหาอาวุธให้แก่ฝ่ายกบฏ เพื่อต่อต้านกองกำลังรัฐบาลลิเบีย ซึ่งมีอาวุธที่ทันสมัยมากกว่า แต่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าขัดต่อมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ให้ปฏิบัติภารกิจคุ้มครองพลเรือนเท่านั้น
โดยระหว่างการประชุมว่าด้วยลิเบีย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาที่กรุงลอนดอน นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า การติดอาวุธให้แก่กลุ่มกบฏยังคงถือเป็นทางเลือก ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับนายบารัค โอบามา ที่ว่า สหรัฐฯไม่ปฏิเสธว่าอาจทำการติดอาวุธให้แก่ฝ่ายต่อต้าน
ส่วนนายเซอร์ไก ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า ตนเชื่อว่ากลุ่มชาติพันธมิตรไม่มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น ภายใต้มติที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ขณะที่นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน กล่าวเตือนนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศสว่า การโจมตีทางอากาศต่อลิเบียอาจเป็นการละเมิด"เจตนาเดิม"ตามมติของยูเอ็น ที่อนุญาตให้บังคับใช้มาตรการดังกล่าวหากว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อน