กทม.หวั่นอาคารขนาดเล็กเสี่ยงแผ่นดินไหว ผอ.สำนักโยธา เล็งส่งเจ้าหน้าที่ตรวจ 12 ตึกเสี่ยงสัปดาห์หน้า ชี้อาคารสร้างก่อน พรบ.ควบคุมอาคารปี 50 รับมือแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้ หนุนบรรจุแผนอพยพในกฎหมาย หวั่นประชาชนแตกตื่น ด้านวิศวกรรมสถานยันตึกทั่วกทม.ไม่ถล่มแน่
นายชาตินัย เนาวภูต รองปลัดกทม.ให้สัมภาษณ์"สำนักข่าวเนชั่น"ถึงมาตรการรับมือแผ่นดินไหวของอาคารสูงในกทม.ว่า เมื่อวานนี้ (25 ม.ค. )
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารสูง เพื่อตรวจสอบและประชาสัมพันธ์เพื่อให้เจ้าของอาคารเกิดความกระตือรือร้นในการวางแผนรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยในสัปดาห์หน้า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการโยธา ฝ่ายป้องกันภัย เพื่อประชุมให้มีความพร้อมจะรับมือหากแผ่นดินไหวมีผลกระทบในกทม. ซึ่งอดีตที่ผ่านมาหลายคนเห็นว่า กทม.ไม่ได้อยู่ในแนวแผ่นดินไหว แต่จากนี้ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติอะไรขึ้นได้
ส่วนมาตรการความปลอดภัยด้านแผ่นดินไหว ตามอาคารใหญ่ๆ มีการออกแบบที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ซึ่งมีความปลอดภัยที่จะสามารถรองรับเหตุแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้ แต่เป็นห่วงอาคารขนาดเล็ก ที่มีรากฐานเสาเข็มหรือฐานไม่แข็งแรงพอ อาจจะได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม กทม.ยังเป็นห่วงในสถานการณ์ จึงอยากขอให้ประชาชนไม่ประมาทและมีการเตรียมพร้อม ทั้งนี้ในเรื่องการแก้ไขกฎกระทรวง กทม.ได้มีการปรับแก้ไขเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
ด้านนายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. กล่าวว่า กรณีที่มี 12 อาคารที่ กทม.จะเข้าไปตรวจสอบเป็นพิเศษ
เพราะอาคารเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นอาคารที่รู้สึกได้หากมีแผ่นดินไหว ซึ่งกทม.จะเข้าไปตรวจสอบความมั่นคง ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว จากนั้นวันจันทร์นี้ ( 28 มี.ค)จะส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่เข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอาคารเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย แต่เป็นการตรวจโครงสร้างอาคารเพื่อความมั่นใจของประชาชน
นายจุมพล กล่าวต่อว่า ส่วนอาคารหลายแห่งที่มีการสร้างก่อนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 บังคับใช้
ซึ่งก่อนหน้านี้กฎหมายได้ควบคุมให้อาคารเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อรองรับเรื่องพายุ เพราะพายุที่จะเกิดขึ้นในกทม.จะมีระดับความรุนแรงไม่มาก ดังนั้นอาคารเหล่านี้มีความสามารถพอที่จะรองรับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ เพราะพลังของพายุกับแรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกทม.มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพราะการก่อสร้างอาคารเหล่านี้มีความสามารถส่วนหนึ่งที่จะรองรับคลื่นแผ่นดินไหวในระดับหนึ่งได้ ส่วนป้ายโฆษณาใหญ่ๆ ที่อยู่ทั่วกทม. เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นฤดูร้อน อาจจะมีพายุรุนแรง และอาจส่งผลต่อป้ายโฆษณาเหล่านี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ให้นโยบายส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ
“ จากนี้กทม.จะให้ความรู้กับประชาชนว่าหากเกิดแผ่นดินไหวจะต้องทำอย่างไร เช่น อยู่ใต้เก้าอี้ จะออกจากตึกและมีจุดนัดหมายอย่างไร เหมือนกำหนดไว้เป็นบัญญัติ 10 ประการ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และไม่ตื่นตระหนก ซึ่งที่ผ่านมาจะมีกฎหมายควบคุมอาคารสาธารณะที่ต้องตรวจทุกปี ทั้งเรื่องทางหนีไฟ หรือแผนอพยพหากเกิดเหตุไฟไหม้ซึ่งมี 9 ประเภท ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการบรรจุแผนอพยพแผ่นดินไหว โดยจะเริ่มตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับเมือง หรืออาจจะออกเป็นกฎกระทรวงควบคุม เพราะแผ่นดินไหวเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้ความรู้กับประชาชน ” ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม.กล่าว