ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน
เพื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมของประชาชนกับกระบวนการทางนโยบายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ โดยศึกษาจากบทเรียนการกรณีภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นในการป้องกันและรับมือกับสาธารณภัย มีนางนิภา พริ้มศุลกะ ส.ส.นครศรีธรรมราช ทำหน้าที่ประธาน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในฝ่ายเห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และตัวแทนเครือข่ายประชาชนที่คัดค้าน จากจ. ตราด นครสวรรค์ และชุมพร ร่วมแสดงความเห็น
นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า
ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร่วมกับรัสเซีย ดังนั้นแม้ในไทยไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ถ้าเกิดการรั่วไหลจากเวียดนามก็มาถึงประเทศไทยก็ตายเหมือนกัน ตนจึงเห็นด้วยกับพลังงานทางเลือกนี้ขอแต่เรามีระบบป้องกันที่ดีซึ่งไทยมีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆเยอะแยะ หากไปหวังพลังงานลม น้ำ ก็มีไม่เพียงพอ จึงอยากให้มาพูดความจริงกันดีกว่าอย่าไปคิดในสิ่งที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นแล้วกระโตกกระตากตกใจไปกันใหญ่ ขณะที่ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายในปี 2557 กำลังสำรองที่เรามีจะถูกใช้ไปทั้งหมดรวมถึงสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ไทยซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะเริ่มหมดลงไปดังนั้นเรื่องพลังงานควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติเพราะประเทศไทยกำลังจะเหมือนกับเกาหลีและญี่ปุ่นคือไม่มีพลังงานในประเทศตัวเอง
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่าด้านตัวแทนเครือข่ายประชาชน ยังคงคัดค้านโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากกังวลเรื่องอันตรายของสารกัมตรังสี เช่นเดียวกับตัวแทนจากมูลนิธิที่เป็นห่วงว่าไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรมและเป็นครัวของโลกอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีเช่นกรณีญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่
นายสมิทธ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ถือว่ามีความจำเป็น
เนื่องจาก 30-40 ปีข้างหน้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็จะหมดไปจากโลกนี้ ส่วนตัวมองว่าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานสะอาดที่สามารถใช้ทดแทนได้ ส่วนกรณีที่กลุ่มประชาชนต่อต้าน ตนมองว่าเป็นเพราะขาดความรู้ เข้าเข้าใจโดยละเอียด หากหน่วยงานรัฐเข้าไปให้ความรู้ด้านประโยชน์และข้อเสียอย่างละเอียดประชาชนจะเข้าใจ ไม่มีปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ประเทศญี่ปุ่นระเบิด รังสีที่เป็นอันตรายจะมาถึงประเทศไทยหรือไม่
นายสมิทธ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มี แต่มีความเป็นไปได้ในช่วงปลายปีนี้ ที่ลมเปลี่ยนทิศทางมาเป็นทางตะวันตกเฉียงใต้ กัมมันตภาพรังสีอาจมาถึงไทยได้ ส่วนความเข้มข้น หรือสามารถทำอันตรายกับประชาชนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของรังสีที่ปล่อยออกมา เมื่อถึงเวลานั้นคงต้องตรวจวัดอีกครั้ง