กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.55 น. ของวันที่ 24 มีนาคม เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์
(ขณะที่ศูนย์เตือนภัยของสหรัฐฯ ระบุว่า 6.8 ริคเตอร์) เป็นเวลา 1 นาที ลึกจากระดับผิวดิน 10 กิโลเมตร โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้านรัฐฉาน ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงรายไปทางทิศเหนือ เป็๋นระยะทาง 56 กิโลเมตร ละติจูดที่ 20.52 องศาเหนือ และลองติจูดที่ 99.54 องศาตะวันออก โดยในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว รวมทั้งในกทม.ด้วย เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย
นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยว่า กรมอุตุฯ กำลังตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ และรีบรายงานให้สาธารณชนได้รับทราบโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม นายสมชายเห็นด้วยกับศูนย์เตือนภัยสหรัฐฯ ว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จะไม่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ เพราะแผ่นดินไหวเกิดบนแผ่นดินไม่ใช่ทะเล
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังเตือนว่าประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้รอฟังข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา
ด้านรศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สัมภาษณ์ทีวีไทยและรายการข่าวสามมิติว่า หลังจากนี้ภายใน 2-3 วันแรก โดยเฉพาะ 2-3 ชั่วโมงแรก น่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคความรุนแรงประมาณ 4-5.5 ริคเตอร์ เป็นจำนวนหลายครั้ง บริเวณพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก โดยผู้ที่อยู่ในอาคารสูงจะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน จึงขอให้ออกมาดูสถานการณ์ภายนอกอาคารก่อน
รศ.เป็นหนึ่งระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเช่นนี้สามารถส่งแรงสะเทือนเป็นคลื่นความถี่ต่ำมาถึงอาคารสูงกรุงเทพฯได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด
นอกจากนี้ รศ.เป็นหนึ่ง กล่าวเสริมว่า ในรอบ 95 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหวความรุนแรงประมาณ 7 ริคเตอร์ ขึ้นในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวของพม่าเป็นจำนวน 4 ครั้ง แต่ที่คนไทยรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ชัด เป็นเพราะว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวเขยิบเข้ามาอยู่ใกล้พรมแดนไทยเป็นพิเศษ
นักวิชาการผู้นี้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มีรอยเลื่อนเปลือกโลกลักษณะคล้ายๆ กัน กระจายอยู่ในพื้นที่ประเทศพม่าและไทย ในครั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นนอกประเทศเรา แต่ต่อไป เหตุแผ่นดินไหวลักษณะเดียวกันอาจเกิดขึ้นในประเทศเราก็ได้
โดยรอยเลื่อนเปลือกโลกแม่จันนั้นสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 7 ริคเตอร์ได้ แต่จะเกิดขึ้นประมาณ 700-800 ปี ต่อหนึ่งครั้ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นเมื่อใด
ด้าน รศ.อัปสรสุดา ศิริพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวที่พม่าครั้งนี้ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว 9.0 ริคเตอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะรอยเลื่อนเปลือกโลกในพม่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันกับรอยเลื่อนเปลือกโลกที่เรียกว่า "วงแหวนไฟ" ในญี่ปุ่น