ต่างชาติผวาปิดสถานทูตในกรุงโตเกียวแล้ว25แห่ง ขณะที่น้ำประปาอันตรายสำหรับทารกญี่ปุ่นเตือนภัยปชช.ในโตเกียว
วันนี้ 24 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทการไฟฟ้า โตเกียว อีเลคตริค เพาเวอร์ จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งตั้งอยู่ 250 กม.ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า มีกลุ่มควันดำลอยฟุ้งขึ้นมาจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ส่งผลให้ต้องสั่งอพยพคนงานออกจากบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้ากำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และแท่งเชื้อเพลิงในระบบหล่อเย็น ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวและสึนามิ จนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีไปทั่วในขณะนี้ โดยเจ้าหน้าที่พยายามที่จะเปิดสวิตช์ทำงานอีกครั้งของระบบหล่อเย็นในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 หลังจากสามารถต่อสายไฟเข้าไปได้ทั้ง 6 เตาปฏิกรณ์ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งหมดที่ได้รับความเสียหายก่อนที่จะเปิดสวิตช์ทำงานระบบหล่อเย็นให้กับทุกเตาปฏิกรณ์ ซึ่งกระบวนการนี้อาจต้องใช้เวลาหลายวันหรืออาจนานหลายสัปดาห์ก็ได้
เผยสารกัมมันตรังสีลดลง
เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยพลังงานนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระดับของสารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะนั้นอยู่ที่ระดับ 435 ไมโครซีเวอร์ตส์ สองชั่วโมงก่อนที่จะเกิดควันพวยพุ่งขึ้นมาเมื่อวันพุธ จากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 แต่ก็ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 283.7 ไมโครซีเวอร์ตส์ หลังจากมีควันฟุ้งออกมา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของระดับสารกัมมันตรังสีทั้งสองตัวนี้ถือว่าสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับการตรวจวัดสารกัมมันตรังสีในช่วงสองวันที่ผ่านมา
พบในท่อน้ำประปาโตเกียว
สารกัมมันตรังสี ไอโอดีน พบว่าเกินระดับที่ปลอดภัยสำหรับทารก ตรวจพบแล้วในท่อน้ำประปาในกรุงโตเกียว จึงเสนอแนะผู้ปกครองว่าไม่ควรให้เด็กทารกได้ใช้น้ำประปาเพื่อการบริโภค ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พบระดับของสารกัมมันตรังสีเกินระดับปกติในท่อน้ำประปาในกรุงโตเกียวและจังหวัดฟูกูชิมะ สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่เมื่อมาพบระดับของสารกัมมันตรังสีมากเกินระดับความปลอดภัยสำหรับเด็กทารกในกรุงโตเกียว จึงยิ่งสร้างความหวาดวิตกให้กับประชาชนในเรื่องความปลอดภัยต่อการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี
ห้ามใช้ชงนมเลี้ยงทารก
เจ้าหน้าที่เทศบาลกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า ภายใต้คำแนะนำของรัฐบาล น้ำประปาที่มีกัมมันตรังสีเกินกว่า 100 เบ็กเกอเรลต่อกิโลกรัม ไม่ควรนำมาใช้ชงนมสำหรับเลี้ยงทารก จนกว่าจะมีการประกาศทราบให้แจ้งในโอกาสต่อไป รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในเขตหนึ่งของกรุงโตเกียว มีการนำตัวอย่างจากน้ำประปามาตรวจสอบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาพบว่า มีระดับของสารกัมมันตรังสี 210 เบ็กเกอเรลต่อกิโลกรัม และการตรวจอีกครั้งในวันพุธ พบว่ามีระดับของสารกัมมันตรังสี 190 เบ็กเกอเรลต่อกิโลกรัม
ห้ามส่งออกผลผลิตเกษตร
เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า รัฐบาลสั่งการให้ 4 จังหวัดใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ได้แก่จังหวัดฟูกูชิมะ, อิบารากิ, โตชิงิ และ กันมะ ยุติการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเพราะพบปริมาณของสารกัมมันตรังสีสูงเกินปกติ นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าวทราบว่า ขอให้ระงับการส่งออกผักบรอคโคลี่ กับ ผักโคมัตซึนะ ผักชนิดหนึ่งใบสีเขียว จากจังหวัดฟูกูชิมะ นมสด กับ ผักชีฝรั่ง จากจังหวัดอิบารากิ
กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นระบุว่า ปริมาณของสารกัมมันตรังสีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดภายใต้กฎหมายสุขอนามัยด้านอาหาร มีการตรวจพบในพืชผัก 11 ชนิดด้วยกันในจังหวัดฟูกูชิมะ เช่น สารกัมมันตรังสี แคลเซียม 82,000 เบ็กเกอเรล สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 164 เท่า ในพืชผักใบสีเขียวชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับการพบสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน 15,000 เบ็กเกอเรล สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด 7 เท่า
มะกันห้ามนำเข้าทันควัน
แถลงการณ์ของสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐประกาศห้ามนำเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากยังวิตกเรื่องการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น โดยผลผลิตทางเกษตรที่ห้ามนำเข้า ประกอบด้วยนมทุกชนิด ผลิตภัณฑ์จากนม ผักสดและผลไม้จากจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสี นอกจากนั้น เอฟดีเอก็จะทำการตรวจเข้มงวดการนำเข้าอาหารทุกชนิดจากญี่ปุ่น เพื่อที่จะได้ตรวจสอบและแยกแยะว่ามาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวหรือไม่ และ รัฐบาลฮ่องกงก็ได้สั่งห้ามนำเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มมีความวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นในขณะนี้ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารญี่ปุ่นที่นำผลผลิตทางอาหารจากญี่ปุ่นมาขายก็เริ่มมีผลกระทบ