กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยวันนี้ (23 มี.ค.) ว่า
พบผักจำนวน 11 ชนิดที่ปลูกในจังหวัดฟุกุชิมะ มีระดับการปนเปื้อนของสารรังสีเกินมาตรฐาน อาทิ บร็อคโคลี ผักโขม ผักโคมัตสึนะ หัวเทอร์นิป ผักชิโนบูฟุยูนะ ผักซันโตนะ ผักชิจิเรนะ ผักโคไซไต ผักอาบุรานะ และกะหล่ำปลี และเรียกร้องให้ผู้บริโภคงดเว้นการบริโภคผักทั้ง 11 ชนิดดังกล่าว ในระหว่างที่สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สงบ
ผักที่เพาะปลูกในจังหวัดดังกล่าวได้รับการจัดจำหน่ายโดยสมาคมสหกรณ์การเกษตรแห่งชาติ หรือ JA Zen-Noh อย่างไรก็ดี ไม่พบว่ามีการขนส่งสินค้าการเกษตรใดๆนับตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา
โดยกระทรวงฯเปิดเผยว่า หากรับประทานผักที่มีการปนเปื้อนในระดับสูงสุดวันละ 100 กรัมติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน จะได้รับสารกัมมันตรังสีเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งที่คนเราได้รับตามธรรมชาติในหนึ่งปี
นายกรัฐมนตรีนะโอโต คัง ของญี่ปุ่น สั่งทางการให้จังหวัดฟุกุชิมะและอิบารากิ ซึ่งเป็นสองจังหวัดใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์งดส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิดที่พบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในปริมาณมากขึ้น และแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฟุกุชิมะให้งดส่งออกบร็อกโคลีและผักโคมัตสึนะ
ด้านกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า หลังที่ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แล้ว ได้ประกาศให้ผัก 11 ชนิด
ที่ปลูกในจังหวัดฟูกุชิมะมีสารกัมมันตรังสีสูงเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ในผักโคมัตสึนะ จากเมืองโมโตมิยะ พบสารกัมมันตรังสีซีเซียม 82,000 เบ็กเคอเรล ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ถึง 164 เท่า บางชนิดพบกัมมันตรังสีไอโอดีน 15,000 เบ็กเคอเรล สูงกว่าเกณฑ์ 7 เท่า ขณะที่จังหวัดอิบารากิ มีการตรวจพบสารรังสี ในระดับเกินค่ามาตรฐาน ในผลิตภัณฑ์น้ำนมดิบ ที่เมืองมิโตะ และคาวาชิ ที่ทำการเก็บระหว่างวันเสาร์ถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังพบว่าผักชีฝรั่ง ที่เพาะปลูกที่เมืองโฮโกตะและนาเมงาตะ มีระดับการปนเปื้อนที่สูงเช่นกัน และได้สั่งให้มีการระงับการจำหน่ายเป็นการชั่วคราวแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความเสี่ยงระยะสั้นขณะนี้ยังถือว่าต่ำอยู่ แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนให้นึกถึงเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนระเบิดเมื่อปี 2529 ว่า สารกัมมันตรังสีคงอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นเวลาหลายทศวรรษและสะสมด้วยการเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร