ผลการสำรวจยังพบว่าประชาชนมีความกังวลต่อปัญหามลพิษทางน้ำในประเด็นสำคัญอื่นๆ ประกอบด้วย
ความกังวลในความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายของสัตว์น้ำและพืชนานาชนิดจะลดลง (ร้อยละ 83.9) ความกังวลต่อโรงงานอุสาหกรรมในการปล่อยมลพิษลงสู่แม่น้ำลำคลอง (ร้อยละ 83.7) การใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองของคนไทย (ร้อยละ 83.5) การขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในอนาคต (ร้อยละ 83.3) การปนเปื้อนของสารพิษจากน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมสู่แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตอุปโภคและบริโภค (ร้อยละ 79.4) หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบไม่สามารถควบคุมภาคอุตสาหกรรมในการปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำได้ (ร้อยละ 77.7) การขาดแคลนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับประกอบอาชีพทางการเกษตร (ร้อยละ 75.7) การขาดแคลน แหล่งน้ำสำหรับที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ (ร้อยละ 67.6) และความกังวลในประเด็นสำคัญอื่นๆ อาทิ การบริหารจัดการมลพิษทางน้ำไม่ดี /ไม่มีการพัฒนา รวมทั้งการขาดจิตสำนึกของประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกกังวลต่อการประสบปัญหามลพิษของแม่น้ำ 4 สายหลักในภาคกลาง พบว่าส่วนใหญ่ มีความกังวลมาก-มากที่สุด ต่อแม่น้ำเจ้าพระยา คิดเป็นร้อยละ 74.5 รองลงมาคือ แม่น้ำบางปะกง คิดเป็นร้อยละ 58.0 แม่น้ำแม่กลอง คิดเป็นร้อยละ 52.2 และแม่น้ำท่าจีน คิดเป็นร้อยละ 52.0 ตามลำดับ
สำหรับความคิดเห็นต่อแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำที่เป็นประเภทสารพิษอันตราย นั้นพบว่าประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในกลุ่มที่พักอาศัยบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง กว่าร้อยละ 90 เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำที่เป็นประเภทสารพิษอันตราย นอกเหนือไปจาก บ้านเรือนที่พักอาศัย และภาคเกษตรกรรม ที่ประชาชนบางส่วนเห็นว่าเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางน้ำดังกล่าวด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความจริงจังต่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความจริงจังต่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ
พบว่า โดยภาพรวมประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 32.2 ระบุมีความจริงจังมาก-มากที่สุด ร้อยละ 28.6 ระบุจริงจังปานกลาง และ ร้อยละ 39.2 ระบุจริงจังน้อย-ไม่จริงจังเลย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยความจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำนั้นพบว่าได้คะแนน 4.65 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ผลสำรวจที่กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าปัญหามลพิษทางน้ำในประเทศไทยอยู่ในระดับรุนแรง และเป็นปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมาอย่างยาวนานแล้ว
ในขณะที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความจริงจังในการเข้ามาแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางน้ำยังหย่อนหยานและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีความเอาจริงเอาจังมากพอในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหากไม่มีการส่งเสริมหรือรณรงค์รักษาหรือฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์แล้ว แน่นอนว่าในอนาคตจะต้องเกิดภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภคได้
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน รวมทั้งองค์กรในการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมควรให้ความจริงจังและต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งหาแนวทางการป้องกันไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมที่มีความสกปรกสูง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเองควรมีความรับผิดชอบมากกว่าข้อบังคับขั้นต่ำของกฎหมาย และยึดหลักเน้นปรับปรุงกระบวนการผลิตไม่ให้ก่อมลพิษ ไม่ใช้สารเคมีอันตราย และมีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษ โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้” ดร.นพดล กล่าว
"พลาย ภิรมย์" ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่าชาวไทยอยากเห็นรัฐบาลลงมือแก้ไขมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาคุกคามแหล่งน้ำของประเทศ ความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการและการเปิดเผยข้อมูลเป็นแนวทางที่จะสามารถนำสู่การแก้ไขปัญหามลพิษได้ในระยะยาว ทั้งนี้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรคำนึงถึงสิทธิการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับสารพิษอันตรายที่ใช้และปล่อยจากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม โดยควรเร่งออกกฎหมายกำหนดให้อุตสาหกรรมจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ “ทำเนียบการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR)” ซึ่งใช้หลักการความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาการลดมลพิษ และควรมีการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนมีความตระหนักรู้สึกหวงแหนแหล่งน้ำเพื่อช่วยกันรักษาและลดทอนปัญหาที่เกิดขึ้น
“กรีนพีซเชื่อว่าความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลด้านมลพิษนี้จะต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม การปิดบังข้อมูลการใช้และการปล่อยสารพิษอันตรายนั้นจะยิ่งนำไปสู่ความคลุมเครือโดยเฉพาะในยามที่เกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกับที่เราได้เรียนรู้จากอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะภัยได้” คุณพลายกล่าวปิดท้าย
ลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 60.9 เป็นหญิง ร้อยละ 39.1 เป็นชาย เมื่อพิจารณาอายุของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 3.6 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.8 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 18.7 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 36.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป
เมื่อพิจารณาการศึกษาที่ตัวอย่างสำเร็จในระดับชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 29.5 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า รองลงมา ร้อยละ 24.3 จบมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 8.6 จบอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 31.0 จบปริญญาตรี และร้อยละ 6.6 สูงกว่าปริญญาตรี ตามลำดับ ตัวอย่างร้อยละ 31.4 อาชีพค้าขาย/ธรุกิจส่วนตัว รองลงมาร้อยละ 22.6 อาชีพแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณ ร้อยละ 17.0 อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน/องค์กรเอกชน ร้อยละ 8.5 อาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 อาชีพนักเรียน/นักศึกษา
ในขณะที่ประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น ทนายความ สถาปนิก เกษตรกร/ประมง และรับจ้างทั่วไป/ว่างงาน มีสัดส่วนไม่มากนักร้อยละ 12.2 และเมื่อพิจารณารายได้ของตัวอย่างร้อยละ 19.9 มีรายได้ส่วนบุคคลเฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท รองลงมาร้อยละ 30.8 มีรายได้ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท ร้อยละ 14.7 มีรายได้ระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 10.0 มีรายได้ระหว่าง 15,001- 20,000 บาท และร้อยละ 24.6 มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท