ปลัดยธ.แนะลดทิฐิ มหา´ลัยนอกระบบ

"หลายคนช็อก นำร่าง พรบ.จุฬาฯเข้าสภานิติบัญญัติ"


จากปัญหาความขัดแย้งในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ระหว่างผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับนิสิตและคณาจารย์บางส่วน ซึ่งออกมาชุมนุมคัดค้านทั้งภายในมหาวิทยาลัยและหน้ารัฐสภา และความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ในส่วนของสภานิสิตจุฬาฯ จึงได้จัดเสวนาเวทีเสียงนิสิต:ไขปัญหาจุฬาฯ ออกนอกระบบ ผลประโยชน์จุฬาฯ ใครได้ใครเสีย? ที่หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. โดยมี นายเกื้อ วงศ์บุญสิน รองอธิการบดีจุฬาฯ นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมการสภาจุฬาฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานอนุกรรมการรับฟังความเห็นกรณีการออกนอกระบบ นายสุชาย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ แกนนำการคัดค้านการออกนอกระบบ โดยมีนิสิต คณาจารย์ให้ความสนใจเข้าฟังจำนวนมาก

นายสุชายกล่าวว่า การนำร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนช็อก เพราะไม่คิดว่าผู้บริหารจะทำ เป็นกระบวนการรวบรัด และไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม สังคมจะตั้งคำถามต่อผู้บริหารจุฬาฯ ว่าเป็นการกระทำที่ฉวยโอกาส

"อยากให้ทั้งสองฝ่ายคุยกันดีๆ"


ด้านนายจรัญ กล่าวว่า ตนมีความตั้งใจที่จะพยายามหาวิธีให้ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายเสนอให้จุฬาฯ ออกนอกระบบกับฝ่ายที่คัดค้าน ลดละทิฐิมานะให้เบาลง และหันหน้ามาคุยกันอย่างพี่น้อง อย่างครูกับลูกศิษย์ ซึ่งตนมองว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกกดดันพวกเราทุกคน ขอให้พวกเราช่วยกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงแล้วถอยหลังเข้าคลอง โดยส่วนตัวไม่มองว่าการออกนอกระบบนั้นมีสาเหตุเพราะเม็ดเงินหรือเพื่อวัตถุ แต่ขอให้ช่วยกันทำให้จุฬาฯ เจริญขึ้นกว่าวันนี้ให้ได้ ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ขออย่าได้วิวาท หรือบาดหมางกัน เพราะจะทำให้ผู้แพ้กันทั้ง 2 ฝ่าย และจะพาให้จุฬาฯ พ่ายแพ้ไปด้วย ตนคิดว่าผู้บริหารที่เสนอให้ออกนอกระบบ จะต้องมีหน้าที่ชี้แจง พิสูจน์และให้หลักประกันกับผู้ที่ยังไม่แน่ใจให้เกิดความมั่นใจ

ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเร่งร้อน รวบรัด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหยุดอยู่กับที่ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องให้หลักประกันกับผู้ที่ยังไม่มั่นใจในการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจเป็นคนกลุ่มน้อย ไม่มีวิสัยทัศน์ ยึดมั่นกับกรอบความคิดเดิม แต่คนกลุ่มน้อยนี้ก็มีสิทธิที่จะไม่มั่นใจในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ นายจรัญกล่าวและว่า ส่วนเวลาที่เหมาะสมในการผลักดันจุฬาฯ ออกนอกระบบนั้น

"อยากให้ลดละอารมณ์ใช้เหตุผลคุยกัน"


โดยส่วนตัวไม่แบ่งว่าจะเป็นช่วงประชาธิปไตยหรือ รัฐประหาร หากทุกฝ่ายใช้สติปัญญาและเห็นการเปลี่ยนแปลงจะมีประโยชน์ก็น่าจะเดินหน้าไปได้โดยไม่ต้องรอบริบททางการเมือง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง จากการที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลนี้ ขอยืนยันว่าฝ่ายการเมืองแทบจะไม่สนใจเรื่องนี้ การออกนอกระบบเป็นเรื่องของฝ่ายการศึกษา

อาจารย์ นิสิตที่เห็นตรงข้าม ขอให้คัดค้าน ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเหตุผล ลดละอารมณ์ลงบ้าง เพราะประเทศไทยมีปัญหาอื่นๆในสังคมที่ใหญ่กว่าปัญหานี้อีกมาก ปัญหานี้เป็นเหมือนแบบฝึกหัดข้อหนึ่ง ซึ่งพวกเราอย่าได้สอบตกกับปัญหานี้ และมาช่วยกันทำมหาวิทยาลัยให้เป็นอิสระ โดยนำการเมืองออกจากมหาวิทยาลัย การจะออกระบบสำเร็จหรือไม่ จะต้องไม่ถูกครอบงำโดยระบบการเมืองและระบบราชการ และขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหาทางออกที่ดีที่สุด อย่ายืนหยัดกับจุดยืนเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องไร้จุดยืน แต่เป็นการเปลี่ยนจุดยืนที่ยึดประโยชน์ของจุฬาฯ การศึกษาชาติและประชาชน นายจรัญกล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์