ญี่ปุ่นประกาศยกระดับเหตุวิกฤติโรงฟ้านิวเคลียร์ระเบิดจาก4ขึ้นไปที่5แล้ว“ไอเออีเอ”ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหาแข่งกับเวลา
วันนี้ 19 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั่วโลกจับตาลุ้นระทึก เหตุการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟูกูชิมา ไดอิชิ ประเทศญี่ปุ่นวิกฤติหนัก หลังเกิดระเบิดขึ้นมาเป็นระยะๆ สาเหตุเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหว 9.0 ริคเตอร์ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ทหารตักน้ำทะเลโปรยใส่เตาปฏิกรณ์ปรมาณูเพื่อลดความร้อน ป้องกันไม่ให้แท่งกัมมันตรังสีละลาย กระจายกัมมันตภาพรังสีออกมา ทั้งนี้ปฏิบัติการกอบกู้สถานการณ์ส่อแววล้มเหลว เนื่องจากระดับความร้อนในเตาที่มีอยู่ 6 เตา ยังคงพุ่งสูงขึ้นพร้อมระเบิดได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามขณะนี้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสีบ้างแล้ว ประเทศทั่วโลกต้องสั่งอพยพผู้คนออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
จนท.ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำแทน
ความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตินี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า โทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานว่า มีการระดมฉีดน้ำหลายตันเข้าไปเพื่อบรรเทาความร้อนของแท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา หมายเลข 1 ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 250 กม.และได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยใช้รถดับเพลิง 6 คัน และ รถบรรทุกอีก 1 คันในปฏิบัติการครั้งนี้
ส่วนการใช้เฮลิคอปเตอร์ลงไปตักน้ำทะเลแล้วนำลงมาโปรยใส่อาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายยูคิโอะ เอดาโนะ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่า ไม่มีปัญหาเลยเมื่อสามารถเติมน้ำลงไปในบ่อของระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ แต่ยังบอกเป็นตัวเลขไม่ได้ว่ามีปริมาณเท่าใด ทั้งนี้บ่อของระบบหล่อเย็นภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 และ หมายเลข 4 อาจกำลังเดือด และไม่ได้อยู่ภายใต้อาคารคลุมเตา เพราะได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาได้
ปริมาณรังสียังไม่เป็นอันตราย
โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงต่อว่า การตรวจวัดปริมาณสารกัมมันตรังสีวันนี้ สามารถวัดได้ 100 ไมโครซีเวอร์ตส์ และยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน เว้นแต่การรับสารกัมมันตรังสีภายในครั้งเดียว 1,000 ไมโครซีเวอร์ตส์ หรือ 1 ซีเวอร์ตส์ อาจแสดงอาการป่วยออกมาให้เห็นเช่น คลื่นไส้อาเจียน ด้านเจ้าหน้าที่ของบริษัทโตเกียว อีเลคตริค เพาเวอร์ จำกัด (เทปโก) เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา กล่าวว่า การเติมน้ำเข้าไปอาจได้ผล เพราะเมื่อเฝ้าสังเกตการณ์แล้วพบว่า การเติมน้ำเข้าไปส่งผลให้มีควันพวยพุ่งขึ้นมา เชื่อว่าน้ำทำให้ความร้อนลดลง และอาจเป็นผล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ยังหาทางที่จะฟื้นฟูการจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับคืนมาให้ได้ เพื่อให้ระบบหล่อเย็นกลับมาทำงานตามปกติและอาจลดการปล่อยสารกัมมันตรังสี นอกจากนี้โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นยังกล่าวปฏิเสธด้วยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เคยปฏิเสธความช่วยเหลือจากสหรัฐ
“ไอเออีเอ”ชี้ต้องแข่งกับเวลา
นายยูคิยะ อมาโนะ หัวหน้าสำนักงานทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังเข้าพบนายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า เป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงและมีผลร้ายแรงอย่างมาก เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ประชาคมโลกรวมถึงไอเออีเอจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งและต้องรีบดำเนินการแข่งกับเวลา นอกจากนี้ไอเออีเอก็จะเริ่มทำการตรวจวัดปริมาณสารกัมมันตรังสีในกรุงโตเกียว โดยหวังว่าจะสามารถกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอีกครั้ง
ยกระดับ5โรงไฟฟ้าฟูกูชิมา
สำนักงานความปลอดภัยด้านพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ได้ประกาศยกระดับอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาระเบิด จากระดับ 4 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5 ตามเกณฑ์มาตรฐานสากลของความรุนแรงจากอุบัติเหตุด้านพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7 ระดับ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดซึ่งเคยเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน เมื่อปี 2529 และ ระดับของอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นก็เท่ากับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเกาะทรีไมล์ ในรัฐเพนซิลวาเนียของสหรัฐเมื่อปี 2522
1 สัปดาห์ยืนสงบนิ่งไว้อาลัย
โทรทัศน์เอ็นเอชเค รายงานว่า มีการยืนสงบนิ่งในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่นในวันศุกร์ เวลา 14.26 น.ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับ 12.46 น.วันเดียวกันตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาครบ 1 สัปดาห์พอดี จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิพัดถล่มญี่ปุ่น ผู้สูงอายุภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวหลายร้อยคนในเมืองยามาดะ จังหวัดอิวาเตะ หลายคนสวมหน้ากากอนามัยและเสื้อคลุมหนา บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา เมื่อครบ 1 นาที พวกเขาทั้งหมดก็จับมือกันและก้มศีรษะลงโค้งคำนับ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ ก็ยืนสงบนิ่งและโค้งคำนับเช่นกัน
ผู้เสียชีวิตมากกว่าไหวโกเบ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น รายงานว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 6,539 ศพแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าเหตุแผ่นดินไหวเมืองโกเบเมื่อเดือนม.ค.2538 วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.2 ริคเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 6,434 ศพ ส่วนตัวเลขผู้สูญหายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 10,354 คนแล้ว เมื่อรวมทั้งผู้เสียชีวิตและสูญหายเท่ากับ 16,893 คน บาดเจ็บอีก 2,513 คน ดังนั้นแผ่นดินไหว และสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็นวิบัติภัยทางธรรมชาติครั้งที่รุนแรงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคันโตเมื่อปี 2466 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากกว่า 142,000 ศพ