อุทธรณ์ยืนคุก 5 ปี “ประวัติ ถนัดค้า” อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ งาบสินบน 5 ล้าน เซ็นอนุมัติปล่อยไม้สาละวินกว่าพันท่อน
ที่ห้องพิจารณ 808 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 มี.ค. ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องนายวินัย พานิชยานุบาล อายุ 66 ปี กรรมการบริษัท สหวนกิจ (1999) จำกัด พ่อค้าไม้รายใหญ่ ในจังหวัดภาคเหนือ เป็นจำเลยที่ 1 และ นายประวัติ ถนัดค้า อายุ 67 ปี อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 2 ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา ม.144 และในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงาน รับ เรียกทรัพย์สินสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ม.149 ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 44 ระบุความผิดสรุปว่า
เมื่อระหว่างวันที่ 2 ธ.ค. 40 - 12 ก.พ. 41 เจ้าพนักงานป่าไม้ สำนักป้องกันและปราบปราม กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อายัดไม้สักท่อนจำนวน 14,600 ท่อนของบริษัทสหวนกิจฯ ไว้ตรวจสอบ เนื่องจากสงสัยว่า จะได้ไม้ของกลางมาโดยมิชอบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มอบเงินจำนวน 5 ล้านบาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสำนักป้องกันและปราบปราม ฯ เพื่อจูงใจ และมีคำสั่งให้ผูใต้บังคับบัญชาระงับการตรวจสอบ และเพิกถอนการอายัดไม้ อันเป็นการกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบสามารถตรวจยึดเงิน 5 ล้านบาทของกลางที่บรรจุในกล่องกระดาษมีเทปกาวปิด ใส่ไว้ในกระเป๋าสีดำ พร้อมแจ้งข้อหาดำเนินคดี เหตุเกิดที่แขวงจระเข้บัว เขตลาดพร้าว กทม. และที่ ต.ตากออก อ.เมือง จงตาก เกี่ยวพันกัน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธโดยตลอด
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2548 โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ ซึ่งมีพนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เบิกเงินจำนวน 5 ล้านบาท ออกไปหลังจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ได้ทำการตรวจสอบ และอายัดไม้สักท่อน ของบริษัทสหวนกิจฯ มูลค่า 180 ล้านบาท ไว้ มาเบิกความยืนยัน ซึ่งสอดคล้องกับพยานแวดล้อมโจทก์ปากอื่น ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถอนเงินจำนวน 5 ล้านบาท แล้วนำไปบรรจุไว้ในกล่องกระดาษใส่ไว้ในกระเป๋า แล้วนำไปให้จำเลยที่ 2 ที่บ้านพัก ซึ่งล้วนเป็นพยานหลักฐานมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อต่อสู้ของจำเลยเลื่อนลอย ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.144 ฐานเป็นผู้ให้ทรัพย์สิน หรือสินบนแก่เจ้าพนักงาน และให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน รับทรัพย์สินหรือสินบน ริบของกลาง เงินสดจำนวน 5 ล้านบาทด้วย
จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องด้วย
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีประเด็นว่าจำเลยทั้งสอง กระทำผิดจริงตามฟ้องหรือไม่เห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยันถึงพฤติกรรมของจำเลยทั้งสองว่า ความรู้จักมักคุ้นสนิทสนมกันมาก่อน โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของไม้สักจากแม่น้ำสาละวิน ที่ถูกกรมป่าไม้อายัดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2540 โดยจำเลยที่ 2 เป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ มีอำนาจหน้าที่อนุมัติในการยึดอายัดไม้สักมูลค่า 180 ล้านบาท
นอกจากนี้พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อเดือนก.พ. 2540 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 รวม 5 ครั้ง ครั้งละ1-2 นาที ส่วนพยานโจทก์อีกปากเบิกความว่า ได้ยินว่าจำเลยที่ 1 โทรศัพท์และพูดว่า “เรื่องไม้เสร็จแล้วหรือยัง” ซึ่งเป็นการติดต่อให้จำเลยที่ 2 เซ็นอนุมัติปล่อยไม้ให้
ทั้งนี้โจทก์ยังมีเป็นพนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบางเขน เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มาเบิกเงินด้วยตัวเอง สอดคล้องกับผลการตรวจลายนิ้วมือบนธนบัตรพบลายนิ้วมือของจำเลยทั้งสอง พฤติการณ์แห่งคดีจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ปล่อยไม้ที่อายัด จึงเป็นความผิดฐานให้สินเจ้าพนักงานเพื่อไม่กระทำการตามหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนเพื่อตนเอง เพื่อไม่กระทำการตามหน้าที่โดยทุจริต
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ศาลรอลงอาญา เพราะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน เห็นว่า การกระทำของจำเลยมีความร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี นับว่าสาสมแก่โทษแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างจึงไม่สมควรรอลงอาญาให้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2540 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รณรงค์ระดมทุนช่วยเหลือกองทุนไทยช่วยไทย โดยมีประชาชนมาบริจาคเงินจำนวนมาก ขณะเดียวกัน นายประวัติ ก็นำเงิน 5 ล้านบาทมาบริจาคด้วย โดยอ้างว่ามีบุคคลอื่นนำเงินใส่กล่องของขวัญมาวางไว้ที่หน้าบ้าน ซึ่งนายชวน เห็นว่าเป็นเงินต้องสงสัย จึงไม่รับบริจาค พร้อมกับสั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จึงทราบว่าเป็นเงินสินบนที่ได้รับจากการเซ็นอนุมัติปล่อยไม้สาละวิน จึงถูกดำเนินคดี ดังกล่าว