ผลสำรวจล่าสุดของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง "แกรนท์ ธอร์นตัน" ระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้โอกาสสตรีในการทำงานเป็นผู้บริหารภาคเอกชนมากที่สุดในโลก
โดยรายงานทางธุรกิจประจำปี พ.ศ.2554 ของแกรนท์ ธอร์นตัน ระบุว่า สตรีไทยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารในอัตราที่สูงที่สุดถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้บริหารทั้งหมด ตามมาด้วยจอร์เจีย 40 เปอร์เซ็นต์, รัสเซีย 36 เปอร์เซ็นต์ และ ฮ่องกงและฟิลิปปินส์ 35 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ประเทศซึ่งให้โอกาสสตรีในการทำงานเป็นผู้บริหารน้อยที่สุด ได้แก่ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ญี่ปุ่น ซึ่งผู้หญิงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้บริหารทั้งหมด
รายงานฉบับนี้ยังระบุอีกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในระดับอาวุโสของบริษัททั่วโลกเป็นสตรี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจาก 24 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ.2552 โดยกลุ่มประเทศจี 7 มีอัตราสตรีดำรงตำแหน่งผู้บริหารเพียง 16 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับมีตัวเลขจำนวนผู้บริหารสตรีสูงสุดอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทเอกชนทั่วโลกเท่านั้น ที่แต่งตั้งให้ผู้บริหารหญิงเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซึ่งแตกต่างกับกระแสที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจเอเชีย ที่มีสตรีก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในบริษัทของไทยจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสตรี ตามมาด้วยจีน ไต้หวัน และเวียดนาม ด้วยตัวเลข 19, 18 และ 16 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ