ดีเอสไอสั่งอายัดน้ำมันพืชยี่ห้อ “มรกต” จำนวน 1,400 ตัน เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไป
หลังจากโรงงานได้รับการจัดสรร 5,000 ตัน และแจ้งผลิตครบแล้ว ขณะที่ทางโรงงานอ้างผลิตน้ำมันล่วงหน้าให้กรมการค้าภายในไปก่อนหน้านี้ เมื่อได้รับจัดสรรมา จึงได้หักส่วนต่าง 1,400 ตัน ไว้
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนกรณีการกักตุนสินค้าน้ำมันปาล์ม
นำพนักงานสอบสวนดีเอสไอกว่า 10 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เข้าตรวจสอบโกดังสินค้าของ บริษัท มรกตอินดัสตรี้ส์ จำกัด จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็น 1 ใน10 บริษัท ที่ได้รับการจัดสรรโควตาจากกระทรวงพาณิชย์นำน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศบรรจุขวดจุกสีฟ้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยมี นายอัศนี มาลัมพุช ผู้บริหารบริษัทมรกต และนายกสมาคมโรงกลั่นเข้าชี้แจง
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวภายหลังเข้าตรวจสอบกว่า 4 ชั่วโมง ว่า จากการตรวจสอบทางโรงงาน ระบุว่า
ทำการผลิตครบตามโควตาที่ได้รับจัดสรร จำนวน 5,000 ตัน บรรจุขวดได้ 3.8 ล้านขวด เริ่มตั้งแต่ 1 -16 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่พบน้ำมันปาล์มอยู่ในถังเก็บจำนวน 1,400 ตัน ซึ่งหากนำมาบรรจุขวดได้ จำนวน 960,000 ขวด ซึ่งทางโรงงานชี้แจงว่า ช่วงที่น้ำมันปาล์มขาดแคลน ทางกรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือให้บริษัทผลิตน้ำมันปาล์มจุกสีฟ้าออกจำหน่ายก่อน โดยบริษัทได้นำน้ำมันปาล์มที่มีอยู่เดิมผลิตให้ล่วงหน้าก่อนระหว่างรอน้ำมันปาล์มนำเข้า และเมื่อบริษัทได้รับน้ำมันที่นำเข้า ก็หักในส่วนที่ผลิตไปก่อนหน้า ทำให้คงเหลือน้ำมันในคลังจำนวน 1,400 ตัน
ดีเอสไอสั่งอายัดน้ำมันพืช “มรกต” 1,400 ตัน ตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอได้ขออายัดน้ำมันดังกล่าวไว้ก่อน
เพื่อตรวจสอบว่าสามารถนำน้ำมันปาล์มที่มีอยู่เดิมออกมาจำหน่ายก่อนได้หรือไม่ ส่วนน้ำมันปาล์มน้ำเข้าจำนวน 30,000 ตัน นำมาเพื่อผลิตบรรจุขวดจุกสีฟ้าอย่างเดียวหรือไม่ โดยขอให้กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงรายละเอียดข้อกฎหมายให้ชัดเจน
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ณรัชต์ ยืนยันบริษัทมรกตฯ ยังไม่มีการถูกแจ้งความว่าดำเนินคดีแต่อย่างใด เพียงแต่อายัดสินค้าเพื่อตรวจสอบหลักฐานว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
นอกจากนี้ ดีเอสไอจะเดินหน้าตรวจสอบโรงงานที่เหลือต่อไป โดยประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ รอความพร้อมของเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน เพื่อนำเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจสอบ อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากดีเอสไอไม่มีอำนาจ
สำหรับโควตาน้ำมันปาล์มนำเข้า 30,000 ตัน กระจายไปยังบริษัทต่าง ๆ เพื่อบรรจุขวดจุกสีฟ้า
ประกอบด้วยบริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด จำนวน 6,000 ตัน บริษัท มรกตอินดัสตรี้ส จำกัด 5,000 ตัน บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรม จำกัด 4500 ตัน บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด 3,900 ตัน บริษัท โอลีน จำกัด 3,600 ตัน บริษัท ปาล์มออยล์ เอ็นเนอยี่ อินดัสทรี จำกัดด 1,950 ตัน บริษัท ปาล์มน้ำมันธรรมชาติ 1,200 ตัน บริษัท สุขสมบูรณ์น้ำมันพืช จำกัด 1,200 ตัน บริษัท เหล่าธงสิงห์ 1,200 ตัน และ บริษัท ทีเอสอุตสาหกรรมน้ำมัน จำกัด 1,200 ตัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ไปตรวจสอบสตอกน้ำมัน ของบริษัท ล่ำสูง ในนิคมอุตสาหกรรมบางปูด้วย ขณะนี้ยังไม่มีผลการตรวจสอบ.- สำนักข่าวไทย