ดีเอสไออายัดน้ำมันปาล์ม

“ดีเอสไอ”ประสานก.พาณิชย์อายัดน้ำมัน 1,400 ตัน หลังพบบ.มรกตผลิตเพียง 3,600 ตัน เร่งตรวจสอบคืนน้ำมันให้โรงงานได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.พ.ต.อ.ณรัชต์  เศวตนันทน์  รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยภายหลังเข้าตรวจสอบเอกสารการผลิตน้ำมันปาล์มดิบแยกไขของบริษัท  มรกต  อินดัสตรี้ส์ จำกัด ตามจำนวนโควต้าที่ได้รับการจัดสรรจากองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า  ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ โรงงานแห่งนี้ได้รับการจัดสรรโควตาน้ำมันปาล์มจำนวน 5,000 ตัน เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำมันชนิดบรรจุขวดได้ 3,800,000 ขวด ซึ่งจากการตรวจสอบดีเอสไอพบน้ำมันปาล์มดิบแยกไขถูกเก็บอยู่ในถังจำนวน 1,400 ตัน สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำมันบรรจุขวดได้ 960,000 ขวด ซึ่งน้ำมันส่วนที่เหลือทางโรงงานได้ชี้แจงว่า ในช่วงที่วัตถุดิบขาดแคลนกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือให้โรงงานนำน้ำมันในสต็อกออกมาผลิตและจัดจำหน่ายไปก่อน  เมื่อได้โควต้าจากการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียทางโรงงานจึงทอดคืนน้ำมันปาล์มส่วนที่ผลิตไปให้ล่วงหน้า เบื้องต้นดีเอสไอจะมีหนังสือขอให้กรมการค้าภายในอายัดน้ำมันจำนวน 1,400 ตัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องว่า สามารถคืนน้ำมันให้โรงงานได้หรือไม่ เนื่องจากสัญญาการนำเข้าน้ำมัน 30,000 ตัน ระบุว่าโรงงานที่ได้รับการจัดสรรต้องนำไปผลิตน้ำมันจุกฟ้า เพื่อกระจายการจำหน่ายให้ทั่วถึง

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่แจ้งข้อกล่าวหากับบริษัท และยังไม่สรุปว่ามีความผิดเรื่องกักตุนสินค้าควบคุมจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องเอกสารหลักฐานและระเบียบกฎหมายจากกรมการค้าภายใน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 วันนี้ ในระหว่างนี้ดีเอสไอจะตรวจสอบให้ครบทั้ง 10 โรงงานที่ได้รับการจัดสรรโควต้า ซึ่งเดิมวางแผนที่จะเข้าตรวจค้นพร้อมกันทั้ง 10 แห่ง แต่ติดขัดตรงที่ดีเอสไอไม่มีอำนาจตรวจค้น ต้องใช้อำนาจของเจ้าพนักงานพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามพ.ร.บ.สินค้าและบริการ พ.ศ.2542 แต่เจ้าพนักงานของกระทรวงพาณิชย์ติดภารกิจอื่นทำให้ส่งเจ้าพนักงานมาทำงานร่วมกับดีเอสไอได้เพียง 2 คน และยอมรับว่าการทำงานในช่วงนี้อาจยากลำบากเพราะต้องประสานให้โรงงานทราบล่วงหน้าว่าจะมีการเข้าตรวจสอบ 

พ.ต.อ.ณรัชต์  กล่าวต่อว่า สำหรับโรงงานที่ได้รับการจัดสรรโควตาน้ำมัน 10 แห่งประกอบด้วย 

1. บริษัทพืชปทุม จำนวน 6,000 ตัน 

2. บริษัทมรกต จำนวน 5,000 ตัน 

3. บริษัทชุมพรอุตสาหกรรม จำนวน 4,650 ตัน 

4. บริษัทล่ำสูง จำนวน 3,900 ตัน 

5. บริษัทโอลีน จำนวน 3,600 ตัน 

6. บริษัทปาล์มออย จำนวน 1,950 ตัน 

7. บริษัทปาล์มธรรมชาติ จำนวน 1,200 ตัน 

8. บริษัทสมบูรณ์น้ำมันพืช จำนวน 1,200 ตัน 

9. บริษัทเหล่าธงสิงห์ จำนวน 1,200 ตัน 

10. บริษัททีเอส จำกัด จำนวน 1,200 ตัน


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์