"นิคอน" เตรียมบุกตลาดกล้องเมืองไทยเต็มรูปแบบ หลังบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นตัดสินใจเคลื่อนทัพเอง ตั้ง "นิคอน เซลส์ ประเทศไทย" ยกเลิกระบบตัวแทนจำหน่าย กลายเป็นจุดเปลี่ยนตลาดหมื่นล้านพุ่งเป้าท้าชน "แคนนอน" เจ้าตลาดกล้องมือโปร "เอสแอลอาร์" มั่นใจแรงส่งสาวก "นิคเคอร์" (nikkor) ผลักดันยอดขาย ดีเดย์เปิดตัวมีนาคมนี้ ด้านร้านค้าปรับพื้นที่รอ-ขอดูนโยบาย
การแข่งขันในตลาดกล้องระดับมืออาชีพ หรือกล้องเอสแอลอาร์ 2 บิ๊กแบรนด์ค่ายญี่ปุ่น "นิคอน-แคนนอน" ต่างขับเคี่ยวและชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างชนิดไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าจะเป็นตลาดในญี่ปุ่นเองหรือทั่วโลก แต่สำหรับในเมืองไทยต้องยอมรับว่าการตลาดเชิงรุกของแคนนอนตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้ครองส่วนแบ่งกล้องเอสแอลอาร์มากกว่า 60%
ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 1 แซงแคนนอน
ความเคลื่อนไหวในตลาดกล้องเมืองไทยมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทแม่กล้องนิคอนที่ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยเต็มรูปแบบด้วยตัวเอง หลังจากที่ผ่านมาเป็นการขายในลักษณะตั้งตัวแทนจำหน่ายมาตลอดกว่า 20 ปี โดยจะเริ่มดำเนินธุรกิจในเดือนมีนาคมนี้ สอดคล้องกับช่วงการเริ่มปีบัญชีญี่ปุ่น (1 เมษายน 2554-31 มีนาคม 2555)
เป้าหมายทางธุรกิจคือการขึ้นแท่นเบอร์ 1 และแซงคู่แข่ง "แคนนอน" ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในเซ็กเมนต์กล้องมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันแคนนอนโหมทำตลาดอย่างหนักต่อเนื่อง มีส่วนแบ่งในตลาดนี้กว่า 60%
ล่าสุดนิคอนได้ตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ "นิคอน เซลส์ ประเทศไทย" พร้อมกันนี้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ส่งอดีตผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท นิคอน (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตกล้องและอุปกรณ์นิคอนที่ตั้งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากว่า 20 ปี เข้ามาร่วมทีมด้วยการแต่งตั้งเป็นประธานบริษัทใหม่นี้
แข่งราคาตัวเร่งตลาดโตดับเบิล
ผู้บริหารระดับสูงค่ายกล้องรายหนึ่งให้มุมมองว่า การเข้ามาบุกตลาดเองของนิคอน นอกจากจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของตลาด โดยเฉพาะเซ็กเมนต์เอสแอลอาร์ ที่นอกจากแบรนด์นิคอน แคนนอน ที่ขับเคี่ยวแย่งชิงลูกค้าจากกลุ่มสาวกที่เชื่อมั่นและยอมรับใน 2 แบรนด์นี้ ยังมีผู้ประกอบการจากค่ายคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ โซนี่ พานาโซนิค หรือซัมซุง ที่ลอนช์สินค้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อขอเป็นทางเลือกในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าสัดส่วนตลาดปัจจุบันจะมีเพียง 10% ของทั้งตลาด แต่ในแง่ของมาร์จิ้นและการเติบโตของกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ต่อจากนี้มีศักยภาพมากกว่ากล้องในเซ็กเมนต์คอมแพ็กต์ที่แข่งราคากันรุนแรง และดีมานด์ของตลาดค่อนข้างที่จะเต็มแล้ว
"ตอนนี้คงต้องรอดูว่านโยบายใหม่ของบริษัทแม่นิคอนเข้ามาจะเป็นในทิศทางไหน ดุเดือดและแอ็กเกรสซีฟอย่างไร แต่เชื่อว่าตลาดคงแข่งกันแรงในแง่ราคาและร้านค้า ซึ่งสาวกนิคเคอร์ (nikkor) ในเมืองไทยก็มีจำนวนมาก ที่ผ่านมาอาจติดขัดเรื่องสินค้า ราคา หรือบริการ แต่ถ้านิคอนลุยเอง การแข่งขันก็คงสนุกและมีสีสันขึ้น หลังจากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าตลาดกล้องมืออาชีพ มีแคนนอนที่มีส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างคนอื่น ๆ มาก เพราะลูกค้ามั่นใจสินค้า-บริการ และราคาที่บริษัทแม่ทุ่มเต็มที่"
ดีลเลอร์รอดูนโยบาย "ราคา-ร้านค้า"
สอดคล้องกับทางร้านค้าตัวแทนจำหน่ายกล้องรายใหญ่กล่าวว่า การเข้ามาเต็มรูปแบบของนิคอนจะมีส่วนช่วยเร่งตลาดให้ขยายตัวได้มาก ซึ่งทางร้านพร้อมที่จะปรับพื้นที่ร้าน รวมทั้งดิสเพลย์ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูนโยบายอย่างเป็นทางการจากนิคอนก่อน ว่าจะมีแผนงานทางธุรกิจอย่างไร จะบุกตลาดรูปแบบไหน รวมถึงการซัพพอร์ตทางด้านราคาสินค้าที่จะแข่งขันในตลาด และมีนโยบายกับร้านค้าดีลเลอร์อย่างไร
แหล่งข่าวรายนี้กล่าวเสริมว่า เรื่องของแบรนด์สินค้าและเทคโนโลยี คงไม่มีใครปฏิเสธนิคอน ซึ่งกลุ่มที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ หรือ nikkor ในเมืองไทยมีเป็นจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่รอจะเข้ามา นอกจากกล้องดีเอสแอลอาร์ นิคอนพยายามขยายฐานลูกค้าให้ครบ ทั้งกลุ่มมืออาชีพ กึ่งมืออาชีพ และคอมแพ็กต์
ด้าน "จีเอฟเค รีเทลแอนด์ เทคโนโลยี" ประเมินภาพรวมตลาดกล้องปีนี้ว่า ขยายตัว 1.4 ล้านเครื่อง โต 6% จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเซ็กเมนต์เอสแอลอาร์ที่โตมากกว่า 14% จาก 8.8 หมื่นเครื่องปีที่แล้ว ขณะที่มูลค่าของกล้องคอมแพ็กต์มีแนวโน้มลดลงกว่า 20% ซึ่งระดับราคาต่ำกว่า 5,000 บาท เป็นฐานหลักของกล้องคอมแพ็กต์ ขณะที่ระดับราคา 5,000-18,000 บาท ก็ถูกแย่งจากตลาดเอสแอลอาร์ที่ปรับราคาลงต่อเนื่อง
ส่งท้าย "นิคอนเดย์" @ พารากอน
รายงานข่าวระบุว่า งาน "นิคอนเดย์" ซึ่งเป็นงานประจำปีที่เหล่าสาวกกล้องนิคอนเฝ้ารอ และมารวมตัวกันเพื่อสัมผัสนวัตกรรมและสินค้ารุ่นใหม่ ๆ รวมทั้งเทคนิคการถ่ายภาพในรูปแบบต่าง ๆ จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ปีนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน วันที่ 17-20 กุมภาพันธ์นี้นั้น จะเป็นงานใหญ่ส่งท้ายในฐานะตัวแทนจำหน่ายของบริษัท นิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่รับสิทธิ์ขายกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพแต่ผู้เดียวในประเทศไทยมายาวนานกว่า 20 ปี
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในเรื่องของรายละเอียดว่า บริษัทแม่นิคอนจากประเทศญี่ปุ่นจะให้นิคส์ ไทยแลนด์ปรับบทบาทมาดูแลและบริหารในช่องทางศูนย์บริการหลังการขายต่อเนื่องหรือไม่ จากตัวเลขผลประกอบการของนิคส์ ไทยแลนด์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานรายได้ปี 2548 ว่ามีมูลค่า 687 ล้านบาท ปี 2549 มีรายได้ 896 ล้านบาท และ 970 ล้านบาท ในปี 2550 ส่วนปี 2551 มีรายได้ 908 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,051 ล้านบาท ในปี 2552