ฤดูหมาบ้ามาแล้ว-สธ.เตือนอย่าฆ่า-กินตับ
เชื่อผิดๆ!ว่าแก้พิษเมื่อถูกกัด
สธ.เตือนภัยหน้าหนาว ระวังโรคพิษสุนัขบ้าระบาด เผยคนไทยยังมีความเชื่อผิดๆ หลายอย่าง โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้ระบาดเฉพาะช่วงหน้าร้อน แท้จริงแล้วเชื้อจะแพร่กระจายได้ดีในหน้าหนาว รวมทั้งความเชื่อที่ว่าหมาบ้ากัดต้องใช้รองเท้าตบแผล ฆ่าหมาแล้วเอาตับมากิน หรือไปรดน้ำมนต์ช่วยแก้พิษได้ เลยไม่ยอมไปหาหมอ ยันต้องฉีดวัคซีนเท่านั้น เผยตั้งแต่ต้นปีมีคนถูกหมาบ้ากัดตายแล้ว 21 ราย ใน 15 จังหวัด
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกว่าโรคหมาบ้า โรคหมาหว้อ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส หลังถูกกัดแล้ว เชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมอง ทำให้มีอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดอาการแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ โอกาสตายมี 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2549 นี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.จนถึงขณะนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 21 ราย ใน 15 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสงคราม สระบุรี นครศรีธรรมราช นครปฐม บุรีรัมย์ จันทบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ เชียงใหม่ สระแก้ว และระยอง โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้ใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งพบทั้งหมด 20 ราย ส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขวัย 3 เดือนกัด
"อาการป่วย 7 วัน ถึง 2 ปี"
"เมื่อก่อนเรามักเข้าใจว่าโรคพิษสุนัขบ้าเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะสภาพอากาศร้อนทำให้สุนัขเป็นบ้าได้ง่าย แต่ข้อเท็จจริงแล้ว การแพร่กระจายของพิษสุนัขบ้ามักเกิดในฤดูหนาวแล้วนำไปสู่การระบาดในฤดูร้อน โดยหน้าหนาวบ้านเราเริ่มประมาณเดือนพ.ย.ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดที่พบบ่อย คือ สุนัข สุนัขตัวผู้จะต่อสู้เพื่อแย่งชิงสุนัขตัวเมียและปกป้องอาณาเขต หากตัวใดเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อจะถ่ายทอดทางน้ำลายไปสู่ตัวอื่น และนำเชื้อมาสู่คนอีกต่อหนึ่ง หลังจากมีอาการแล้ว ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนมากจะแสดงอาการป่วยประมาณ 7 วัน ถึง 2 ปี ฉะนั้นอย่าชะล่าใจถ้าถูกสุนัขกัด ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว" น.พ.ปราชญ์ กล่าว
น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประเมินสภาพปัญหาของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบว่าสัตว์ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อมากที่สุดร้อยละ 96 คือสุนัข รองลงมาเป็นแมว พบร้อยละ 3 โดยเฉพาะลูกสุนัขทุกช่วงอายุ มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกับสุนัขโต เพราะลูกสุนัขได้รับเชื้อมาจากแม่ผ่านทางรก โดยคนทั่วไปมักมีความเชื่อว่าสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการดุร้าย ตัวแข็ง หางตกเท่านั้น แท้จริงแล้วอาการของสุนัขที่เป็นโรคนี้มีทั้งแบบซึมและแบบดุร้าย แบบซึมสุนัขจะหลบซุกตัวในมุมมืด ถ้าถูกรบกวนอาจจะกัด ต่อมาจะเป็นอัมพาตแล้วตาย บางตัวอาจแสดงอาการคล้ายกระดูกหรือก้างติดคอ ทำให้เจ้าของเข้าใจผิด พยายามล้วงปากสุนัขหาเศษกระดูกทำให้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ขณะนี้จำนวนคนตายโรคพิษสุนัขบ้าน้อยลงเพราะรัฐบาลให้ความสนใจต่อการป้องกันและกำจัดโรคอย่างจริงจัง และคนมีความรู้มากขึ้น วัคซีนมีคุณภาพ ปลอดภัยมากขึ้นและราคาถูก
"ความเชื่อผิดๆ 8 ประการ"
น.พ.ธวัช กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนตายจากโรคนี้เพราะมีความเชื่อผิดๆ อย่างน้อย 8 ประการ ได้แก่ 1.เชื่อว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะหน้าร้อนเท่านั้น 2.เชื่อว่าเมื่อถูกสุนัขกัด ต้องใช้รองเท้าตบแผล หรือใช้เกลือขี้ผึ้งบาล์มหรือยาฉุนยัดในแผล 3.หลังถูกกัดต้องรดน้ำมนต์จะช่วยรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ 4.เมื่อถูกสุนัขกัด การฆ่าสุนัขให้ตายแล้วนำตับสุนัขมากิน คนก็จะไม่ป่วยเป็นโรคนี้ 5.เมื่อถูกสุนัขกัด การตัดหูตัดหางสุนัขจะช่วยให้สุนัขไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า 6.คนท้องไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 7.โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเฉพาะในสุนัขเท่านั้น 8.วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฉีดรอบสะดือ 14 เข็ม หรือ 21 เข็ม
ถ้าหยุดฉีดต้องเริ่มใหม่ เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขที่มีเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้ากัด ไม่ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลและดีที่สุด ทำให้โอกาสตายมี 100 เปอร์เซ็นต์ โดยขณะนี้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ามีความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 5 เข็ม
"การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า"
และไม่ต้องฉีดทุกวัน คนท้องที่ถูกสุนัขกัดก็ฉีดได้ ก็จะไม่เสียชีวิตจากโรคนี้ เพราะการฉีดวัคซีนทันทีที่สัมผัสกับโรค จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค ตรงกันข้ามหากไม่ฉีดวัคซีนป้องกัน เชื้อจะขึ้นไปทำลายสมอง แสดงอาการคลุ้มคลั่ง และเสียชีวิตในที่สุด
"การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เจ้าของหรือผู้ครอบครองสุนัข ควรนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยเริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุตั้งแต่ 2 เดือน แล้วฉีดกระตุ้นอีกครั้งใน 2-3 เดือนต่อมาและฉีดซ้ำทุกปี หรือนำสุนัขเพศเมียไปฉีดยาคุมกำเนิด ถ้าไม่ต้องการให้มีลูกและหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์ กัด เลีย หรือโดนน้ำลายสัตว์ โดยเฉพาะเด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข หากโดนกัดให้รีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่หลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น แล้วรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด" น.พ.ธวัชกล่าว