นัดปิดรง.15ธ.ค.หนีบาทแข็ง ฉุดราคาสินค้าเกษตรดิ่งเหว

"หวั่นขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน"


ค่าบาทคายพิษ กระทบหนัก กลุ่มสินค้าเกษตร/ธัญพืช ส่งผล โรงงานสับปะรดยกธงขาว พร้อมใจกันปิดโรงงาน 15 ธันวาคมนี้ ชาวไร่ขู่ทันที ห้ามลดราคารับซื้อ ห้องเย็นกุ้งไม่กล้ารับออร์เดอร์ปีหน้า กลัวขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ราคากุ้งก็หล่นวูบลงทันที ด้าน "ข้าว/มันสำปะหลัง" ขอลดดอกเบี้ยแพ็กกิ้ง อ้างสู้คู่แข่งขันไม่ได้ ฝืนส่งออกไปขาดทุนชัวร์ กล้วยไม้ซวย ครบเทอมจ่ายเงินพอดี "หม่อมอุ๋ย" ส่งสัญญาณปีหน้าค่าเงินยังแข็งต่อเนื่อง แบงก์ชาติเสียงแข็งไม่ลดดอกเบี้ยอุ้มค่าบาท

ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งขึ้นไปจนถึงระดับ 35.53 บาท/เหรียญสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบไปถึง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอย่างชัดเจน ทุกคนเริ่มกังวลกันว่าสถานการณ์ "อาจจะ" เลวร้ายยิ่งไปกว่าปี 2540 โดยนายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ก็ออกมายอมรับผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนกับการส่งออกว่า จะมีสินค้าทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบสูงอยู่ 2 รายการ คือ กุ้ง กับผัก/ผลไม้ โดยรายการแรกเป็นกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากถึงร้อยละ 86.4 แต่มีการส่งออกร้อยละ 80 เท่ากับมีกำไรจากการส่งออกร้อยละ 4 เท่านั้น

โรงงานสับปะรด 34 แห่งปิดตัว


นายเฉลิม รูปเล็ก เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เปิดเผยกับ "ประชา ชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 12% ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสับปะรดกระป๋องอย่างมาก เนื่องจากเมื่อคำนวณกลับเป็นเงินบาทแล้ว มีเม็ดเงินกลับสู่ประเทศน้อยลง จากเดิมที่เคยมีรายได้จากการส่งออกสับปะรดกระป๋องหีบละ 400 บาท ก็เหลือแค่ 350 บาท

และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศ คู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย/ฟิลิปปินส์แล้ว ยังพบว่า ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นปรับตัวแข็งค่า "น้อยกว่า" ค่าเงินบาทของไทยมาก ทำให้การผลิต ส่งออกสับปะรดไทยประสบปัญหาไม่สามารถปรับราคาขายเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตในสถาวะที่เงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นในวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ กลุ่มโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้รวมตัวกันจัดประชุมเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน พบว่าปีนี้มีพื้นที่ปลูกสับปะรดน้อยลง โรงงานแปรรูปสับปะรดต่างประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอย่างมากและมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และเมื่อต้องมาประสบกับภาวะค่าเงินบาทแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องจำนวน 34 แห่ง "ไม่มีทางออก" จึงมีมติร่วมกันที่จะหยุดการผลิตอย่างไม่มีกำหนด เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป จนกว่าปัญหาผลกระทบจากค่าเงินบาทจะคลี่คลายลง

"ทำหนังสือฯให้ช่วยแก้ไขปัญหา"


พร้อมกันนี้ สมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย โดยนายสมเกียรติ ลีธีระ นายกสมาคม ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยข้อเรียกร้อง 5 ประการ คือ 1)รัฐบาลต้องกำหนดระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้ชัดเจนเป็นนโยบายว่า ในอนาคตทุกๆ 3 เดือน เงินบาทจะปรับตัวไปในทิศทางใด

2)ปัญหาต้นทุนการขนส่งภาคเกษตรกรรม หากมีการ "ผ่อนผัน" ให้รถบรรทุกสับปะรดสามารถบรรทุกเกินกำหนด อาจจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าขนส่งได้ ก.ก.ละ 20-30 สตางค์ รวมมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท หรือลดต้นทุนของอุตสาหกรรมลงได้ประมาณ 150 ล้านบาท 3)ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากกระป๋องเปล่า โดยทางโรงงานผลิตกระป๋องเปล่าได้ขอปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 แต่เมื่อค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมา 12% โรงงานกระป๋องเปล่าอ้างว่าบริษัทผู้นำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ "ไม่ยอม" ลดราคาเหล็กนำเข้าให้ ดังนั้นจึงไม่สามารถลดราคากระป๋องเปล่าให้ได้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท

4)ขอให้มีการนำแผนยุทธศาสตร์สับปะรด ที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วในเดือนมีนาคม 2547 กับเดือนสิงหาคม 2548 มาสู่การปฏิบัติ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมสับปะรดไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน 5)ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติโดยเร็วที่สุด

ชาวไร่ฟ้อง "โฆสิต" รง.ลดราคารับซื้อสับปะรด


สหพันธ์พัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนายนุกุล ฉุนราชา ประธานสหพันธ์ฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหวทันทีที่โรงงานสับปะรดกระป๋องมีมติจะปิดโรงงานหลังวันที่ 15 ธันวาคมนี้ โดยสหพันธ์ฯได้ทำหนังสือถึงนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เช่นกัน โดยอ้างว่า

มติของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย นอกเหนือไปจากการประกาศปิดโรงงานแล้ว ทางสมาคมยังแจ้งให้กับชาวไร่สับปะรดทราบว่าโรงงานสับปะรดกระป๋องจะปรับราคารับซื้อสับปะรดจากชาวไร่ลง ก.ก.ละ 1.50-2.00 บาท จากปัจจุบันที่รับซื้ออยู่ ก.ก.ละ 3.00-3.20 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต

ทางสหพันธ์พัฒนาเกษตรฯเห็นว่าราคาสับปะรดที่ ก.ก.ละ 3.00-3.20 บาทนั้น เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ชาวไร่สับปะรดพอมีกำไรเล็กน้อยเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวเท่านั้น ประกอบกับในปี 2549 ราคาสับปะรดได้ตกต่ำลงเหลือแค่ ก.ก.ละ 1.00-1.50 บาทมาแล้ว ส่งผลให้ชาวไร่สับปะรดต้องขาดทุนไปเป็นจำนวนมาก "หากโรงงานลดราคารับซื้อสับปะรดลงเหลือ 2.00-2.50 บาท/ก.ก.แล้ว ชาวไร่สับปะรดจะอยู่กันอย่างไร" หนังสือถึงรองนายกโฆสิตระบุ

ราคากุ้งขาวใน ปท.ตกรูด


ทางด้านแหล่งข่าวจากวงการห้องเย็น เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผู้ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งส่วนใหญ่มีสภาพไม่ต่างไปจากผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องมากนัก เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ "กำไร" ที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนหายไป ห้องเย็นรายใหญ่พยายามที่จะประคองตัวต่อไป ขณะที่ห้องเย็นรายเล็กเริ่มออกอาการไปไม่ไหวบ้างแล้ว

"ออร์เดอร์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ในขณะนี้ ไม่มีใครกล้ารับเพราะไม่รู้ว่าค่าบาทจะแข็งขึ้นไปกว่านี้อีกหรือไม่ ส่วนไตรมาสแรกของปี 2550 ขณะนี้ส่งออกกันไปหมดแล้ว ดังนั้นผลกระทบรุนแรงจะเกิดกับผู้ส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งในอีก 3 เดือนข้างหน้า" แหล่งข่าวกล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ณ ตลาดทะเลไทย ได้ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ค่าบาทเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม-มิถุนายน 2549 อยู่ที่ 159.48 บาท/50 ตัว/ก.ก. พอมาถึงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2549 ปรับลดลงมาเหลือ 134.31 บาท/50 ตัว/ก.ก. และล่าสุดราคาในเดือนธันวาคมนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 120-130 บาท/50 ตัว/ก.ก. ในขณะที่ราคากุ้งกุลาดำต้นปี 2549 อยู่ที่ประมาณ 200 บาท/50 ตัว/ก.ก. ปัจจุบันราคาเหลืออยู่ประมาณ 130-135 บาท/50 ตัว/ก.ก.เท่านั้น

"ราคากุ้งตก ผลกระทบค่าเงินบาท"


ด้านนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ราคากุ้งได้ตกลงมาตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากค่าบาทที่แข็งตัวขึ้น การส่งออกกุ้งไทยในอนาคตอันใกล้จะสู้กับกุ้งจากเวียดนาม-อินโดนีเซีย-จีน ไม่ได้ ดังนั้น กรมประมงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ส่งออก/เกษตรกรโดยด่วน อาทิ การรับจำนำกุ้ง หรือการชดเชยภาษีให้กับผู้ส่งออก

"ขณะนี้ไม่มีผู้ส่งออกรายใดกล้ารับออร์เดอร์ในปีหน้า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก็ได้เข้ามาหารือกับกรมประมงว่า มีทางใดบ้างที่จะช่วยประกันราคากุ้งให้กับเกษตรกร อาทิ การทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง แต่ยังไม่มีใครกล้าตอบรับจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ข้าว/มัน เจอเต็มๆ ร้องลดดอกเบี้ยแพ็กกิ้ง


นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวภายหลังการหารือกับนางอรนุช โอสถานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าปัญหาจากค่าเงินบาทที่กระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในขณะนี้ ทางสมาคมได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาขอให้รัฐบาลพิจารณาลดดอกเบี้ย "แพ็กกิ้งเครดิต" จากขณะนี้อยู่ที่ 6.5% เพื่อลดต้นทุนการส่งออกข้าวได้ และภาครัฐควรทำประชาสัมพันธ์ รวมถึงแก้ไขระเบียบศุลกากรหรือกรอกแบบฟอร์มหน่วยราชการต่างๆ ให้สามารถใช้เงินสกุลอื่นแทนดอลลาร์สหรัฐได้ เช่น สกุลยูโร

"ประเด็นปัญหาหนึ่งที่หารือคือ หากเงินบาทแข็งค่ามากกว่านี้ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะแข็งค่าต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น จะทำให้การส่งออกข้าวประสบปัญหาขาดทุนเพราะเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% ขณะที่การปรับขึ้นราคาส่งออกทำได้ยากเพราะผู้ซื้อรับได้ในราคาจำกัด ทำให้การส่งออกน่าจะมีปริมาณลดลงส่งผลให้ข้าวในประเทศมากขึ้นและกระทบราคาข้าวในประเทศลดต่ำลง กระทบรายได้เกษตรกรในที่สุด เพราะผู้ส่งออกคงส่งออกได้น้อยลงเนื่องจากราคาส่งออกจะปรับขึ้นไม่ได้มาก ส่งออกไปก็จะขาดทุน" นายชูเกียรติกล่าว

"เงินบาทแข็งค่าแต่มูลค่าลดลง"


นายสมบูรณ์ วัฒนวานิชย์กุล อุปนายก สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้คิดเป็นร้อยละ 14-15 ซึ่งแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง คิดเป็นร้อยละ 7-8 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมันสำปะหลัง ในส่วนของมันเส้นมีการส่งออกประมาณ 3.5 ล้านตัน แต่มีมูลค่าลดลง 1,200 ล้านบาท

ส่วนนายปรีชา เต็มพร้อม นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ภาวะอัตราค่าเงินบาทได้ส่งผลกระทบการส่งออกแป้งมันสำปะหลัง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทแล้ว โดยการส่งออกแป้งมันในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามีปริมาณ 1.7-1.8 ล้านตัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากอัตราที่ผู้ส่งออกกำหนดราคาอยู่ที่ 38 บาท/เหรียญสหรัฐ และขึ้นมาแข็งค่าเป็น 35 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้ได้เงินบาทลดลงเฉลี่ยตันละ 450 บาท

"กระทบผู้่ส่งออกแน่นอน"


ส่วนการส่งออกปี 2550 คาดว่าปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน ดังนั้นหากยังไม่มีการแก้ไขในเรื่องนี้ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกอย่างแน่นอน และที่สำคัญเกษตรกรจะได้รับผลกระทบสูงสุด เพราะเป็นต้นทางการผลิต

ขณะที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาวะราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้ รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบข้อมูลว่าเกิดจากสาเหตุใด หากเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเงินดอลลาร์ก็ถือว่า "เป็นเรื่องใหญ่" เป็นปัญหาที่รัฐต้องรีบเข้าไปดูแล หากเป็นผลกระทบจากปัญหาการแข็งตัวของค่าเงินบาทยังไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะค่าเงินบาทยังคงเปลี่ยนแปลงทุกวันและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็กำลังเร่งวางแผนแก้ไขปัญหา

หม่อมอุ๋ยบอก "ปีหน้าบาทแข็งต่อเนื่อง"


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า สภาพโดยรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตในเกณฑ์ที่ดีต่อไป เช่นเดียวกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปี 2550 GDP น่าจะขยายตัว 4.5-5.5% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานคงอยู่ที่ 1.5-2.5% ซึ่งในภาพรวมแล้วคาดว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงมากนัก เมื่อประเมินไปข้างหน้าแล้ว โอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยคงไม่มี นอกเสียจากว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นมาก ทั้งนี้สิ่งที่พูดนี้คือมองจากปัจจุบัน แต่ก็ต้องระวังเพราะเศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปีหน้าจะคงแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และเชื่อว่าอัตรา ดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศในขณะนี้ แต่เป็นเพราะสภาพคล่องในตลาดโลกที่มีจำนวนมากไม่สนใจลงทุนในสหรัฐ จึงหันหน้าเข้าสู่ยุโรปและเอเชีย และการที่เข้ามาเอเชียและเข้าประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่นนั้น ก็เพราะว่าเมื่อเข้าไปประเทศอื่นแล้วค่าเงินก็ไม่เคลื่อนไหวมาก เช่น เยนของญี่ปุ่น หยวนของจีน

"การค้าไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น"


ขณะที่ฮ่องกงค่าเงินก็ไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐ ดังนั้นตลาดที่เหลือจึงเป็นไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดเมื่อเทียบกับทั้งสองประเทศ

"ถ้ามองย้อนไปปี 2548 เราไม่แข็งมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เรามาปรับตัวแข็งขึ้นเร็วในปีนี้ ดังนั้นถ้ามองในแง่ความสามารถในการแข่งขันเราก็ไม่ได้เสียไปเมื่อเทียบกับภูมิภาค และบาทมาแข็งเร็วในช่วง 2-3 เดือนมานี้จึงตกใจกัน"

ไม่ลดดอกเบี้ยยันค่าเงิน


นางธาริษากล่าวต่อว่า กลไกการดูแลค่าเงินมีอยู่หลายอย่าง แต่การลดดอกเบี้ยคงไม่ใช่วิธีที่จะลดการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะหาก ธปท. ลดดอกเบี้ยก็เท่ากับกระตุ้นเศรษฐกิจ หากนักลงทุนคิดว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นก็อาจจะยิ่งนำเงินเข้ามาลงทุน ทั้งนี้กลไกที่ ธปท.ใช้สำหรับดูแลค่าเงินขณะนี้ประกอบด้วย 4 อย่างด้วยกันคือ

1.การเข้าแทรกแซง ทั้งแบบปกติและแบบหนักด้วย 2.การเปิดทางให้นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น 3.ออกมาตรการสกัดเงินไหลเข้าระยะสั้น 4.การส่งสัญญาณให้เอกชนรู้ว่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่นั่นก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งที่สุดแล้วธุรกิจก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขัน และต้องไม่เข้าแข่งอะไรที่ไม่สามารถแข่งขันได้

โออีซีดีหวั่นดอลลาร์น่าห่วง


เป็นที่น่าสังเกตว่า รายงานวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจของสถาบันระหว่างประเทศสำคัญ อาทิ ขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ต่างให้มุมมองที่ตรงกันว่า เศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มจะชะลอลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2550 อันเป็นผลมาจากการปรับตัวอย่างฉับพลันของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ แรงกดดันของราคาน้ำมัน และการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมา

ยิ่งกว่านั้นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง ทั้งกับสหรัฐและเศรษฐกิจโลกคือ ภาวะอ่อนค่าของดอลลาร์ที่ต่ำเกินไป อาจกดดันให้ยุโรปและญี่ปุ่นต้องปรับดอกเบี้ย ซึ่ง แองเจล เกอร์เรีย เลขาธิการโออีซีดี ให้ภาพว่า หากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้

"ผลพวงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ"


อาจจุดชนวนการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีผลต่อประเทศอื่นๆ เพราะการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของดอลลาร์จะทำให้ยูโรแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งเสี่ยงที่จะกระทบต่อผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชียระบุในรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในเอเชีย (Asia Economic Monitor) รอบครึ่งปี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกอาจเติบโตเพียง 4.4% ในปี 2550 โดยชะลอลงจากอัตราเติบโต 4.9% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับจากเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชียเมื่อปี 2540-2541 จากผลพวงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรป



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์