ป.ป.ง.นัดถกสถาบันการเงินรับมือแก๊งคอลฯ

ป.ป.ง.พบเงินที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฉ้อโกง ถูกโอนไปเข้าบัญชีคน ๆ เดียว เชื่อคนร้ายเป็นเครือข่ายเดียวกัน

วันนี้ 10 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการป.ป.ง. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฉ้อโกงประชาชน ว่า ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมาตรการให้ต้องแสดงเลขหมายวีโอไอพี ซึ่งโทรจากต่างประเทศที่ถือเป็นการป้องกันปัญหาต้นทางในการสกัดกั้นกลุ่มคนร้ายไม่ใช้เลขหมายเป็นช่องทางในการหลอกลวงประชาชน ในส่วนของป.ป.ง. นั้นจะเป็นการป้องกันนำเงินออก ซึ่งเป็นการบล็อกที่ปลายทาง ซึ่งขณะนี้ป.ป.ง.กำลังจะทำแผนธุรกรรมของคนร้าย เบื้องต้นพบว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน เนื่องจากการโอนเงินของเหยื่อหลายครั้งไปเข้าบัญชีคนเพียงคนเดียว โดยพบมากในพื้นที่จ.พัทลุง สุพรรณบุรี อยุธยา ชลบุรี 

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า ป.ป.ง.ได้เรียกกลุ่มเป้าหมายที่ประกอบด้วยบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันภัย 95 แห่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 6 แห่ง รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์และสถาบันการเงินอื่น ที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำไปแอบอ้าง มามาตรการในการสกัดกั้นธุรกรรมต้องสงสัยที่มีการกดเงินในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ป.ป.ง.จะเรียกประชุมสถาบันการเงินทั้ง 38 แห่งในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงมาตรการชะลอการโอนเงินข้ามประเทศประมาณ 10 นาที ซึ่งจะช่วยยับยั้งไม่ให้คนร้ายหลอกลวงประชาชนได้อย่างง่ายดาย

พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาของป.ป.ง.ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันการเงินทุกแห่งให้จัดทำเครื่องมือประเมินความเสี่ยง โดยใช้แบบตรวจสอบรายการ เพราะตามก.ม.ฟอกเงินของป.ป.ง. ซึ่งความผิดเรื่องการหลอกลวงให้โอนเงินเข้าข่ายความผิดเรื่องการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์  สำหรับผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีก็จะต้องดำเนินคดีทางตามก.ม. โดยป.ป.ง.จะทำการปราบปรามขบวนการดังกล่าวร่วมกับดีเอสไอ ส่วนการดำเนินคดีอาญาเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการบังคับใช้ก.ม.ดังกล่าวควบคู่กับการตรวจสอบของสถาบันการเงิน ประชาชนจะตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงยากขึ้น จนทำให้ต้องย้ายฐานการหลอกลวงไปที่อื่น  เช่นเดียวกับกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาถูกหลอกลวงเยอะมาก จนต้องลงทุนด้วยการติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ที่ตู้เอทีเอ็ม

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน  ยอมรับมีปัญหาเกี่ยวกับการที่ประชาชนถูกหลอกให้โอนเงินเยอะมาก  โดยกลุ่มที่กระทำผิดมีทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ประชาชนถูกหลอกง่ายมี 2 กรณี คือความโลภ และกรณีถูกข่มขู่โดยคนร้ายแอบอ้างชื่อเจ้าหน้าที่หรือแอบอ้างชื่อหน่วยงานราชการรวมทั้งแอบอ้างชื่อสถาบันการเงินว่าเป็นหนี้สินเชื่อต่าง ๆ โดยไม่มีการตรวจสอบกลับมาที่สถาบันการหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง  ซึ่งตนขอเตือนประชาชนว่าอย่าล้างหนี้ทางโทรศัพท์เด็ดขาด เพราะจะไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันได้  ดังนั้นขอแนะนำให้ในกรณีที่มีปัญหาควรติดต่อกับธนาคารโดยตรง  
 
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า  ในส่วนของสถาบันการเงินแม้จะมีมาตรการดูแลด้วยการสกัดกั้นแต่ก็อาจมีผลกระทบกับลูกค้าที่ดี และทำธุรกรรมเป็นปกติ  ส่วนกลุ่มที่มีการรับจ้างเปิดบัญชี แม้ธนาคารจะมีระบบตรวจสอบแต่กว่าจะตรวจสอบพบและทราบว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกตินั้นต้องใช้เวลา เพราะในแต่ละวันมีลูกค้าทำธุรกรรมมากกว่า 5 ล้านธุรกรรมต่อธนาคาร และเบิกเงินจากเอทีเอ็มครั้งละ 25,000 เต็มอัตราต่อครั้ง โดยมักยอมเสียค่าธรรมเนียมในการโอนต่างธนาคาร และต่างพื้นที่ ส่วนสาเหตุที่ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถูกระบุว่าเป็นธนาคารที่มีการถูกหลอกโอนเงินในอันดับต้น  เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีฐานลูกค้ามาก นอกจากนี้ยังมีระบบบริการโอนเงินอย่างรวดเร็ว รวมถึงความสะดวกในการขยายวงเงินในแต่ละวันได้  อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินพร้อมดูแลประชาชนแต่ต้องการให้ภาครัฐออกระเบียบให้ประชาชนต้องให้ข้อมูลส่วนตัวกับสถาบันการเงินอย่างเต็มที่ เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถจัดกลุ่มลูกค้าและจับตาการเคลื่อนไหนทางการเงินของกลุ่มต้องสงสัยเป็นการเฉพาะ



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์