กทช.ตั้งคณะทำงานสางปัญหาเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ ประชุมนัดแรกมีมติสั่งผู้ให้บริการเครือข่ายโชว์เลขหมายปลายทางเบอร์จริง
วันนี้( 8 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้โทรคมนาคมระบบบริการเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต (Voiceover IP : VOIP) ร่วมกับตัวแทนจากจากภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ตัวแทนจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บริหารจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) และผู้บริหารจากบริษัทให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
นายธาริต กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีขบวนการหลอกลวงประชาชนผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก ดังนั้น จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมาเพื่อดำเนินการหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง โดยในที่ประชุมวันนี้(8 ก.พ.) ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันเพื่อเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นคือ การให้กทช. ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์ต้องแสดงเลขหมายโทรศัพท์ที่แท้จริงหากเป็นการโทรศัพท์มาจากต่างประเทศโดยผ่านโทรศัพท์ผ่านระบบ VOIP ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้รับสามารถเห็นหมายเลขจากหน้าจอได้เลยว่าเป็นการโทรศัพท์มาจากระบบ VOIP ซึ่ง
มีจำนวนเลขหมายมากกว่าปกติ และจะได้ไม่หลงเชื่อ จนถูกหลอกให้ทำธุรกรรม โดยภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถเสนอความเห็นดังกล่าวต่อที่ประชุมบอร์ดกทช. เพื่อออกเป็นคำสั่งอย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ขอให้ผู้ประกอบการเริ่มดำเนินการตามแนวทางที่เห็นชอบร่วมกันทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอหนังสือคำสั่ง เพื่อเป็นการหยุดยั้งไม่ให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก โดยแนวทางดังกล่าวจะถือเป็นการบังคับให้ปลายทางต้องแสดงหมายเลขจริง ไม่สามารถใช้เบอร์ปลอมได้
นายธาริต กล่าวอีกว่า ปัญหาการถูกหลอกในลักษณะดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากประชาชน ซึ่งต้องระมัดระวังการใช้โทรศัพท์ รวมถึงการไม่หลงเชื่อในคำขู่หรือคำชักจูงจนพาตัวเองไปที่ตู้เอทีเอ็ม แล้วทำธุรกรรมโอนเงินโดยไม่ทันยั้งคิด
ด้าน พ.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา รองผบก.ปอท. กล่าวว่า ขบวนการหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์เหยื่อที่เป็นคนไทยนั้นพบว่าเป็นการหลอกลวงโดยคอลเซ็นเตอร์จากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบอีกอย่างคือการที่มี VOIP GATEWAY เถื่อน ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่อยู่ในสารบบที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่เหมือนระบบให้บริการที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก กทช. ที่พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับมติที่จะเริ่มนำร่องการแก้ไขอย่างเป็นระบบด้วยความพยายามในการบีบให้มีการแสดงหมายเลขโทรศัพท์ต้นทางเพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้ว่าเป็นเลขหมายจากที่ใด