เจ๋งผลิตชุดทดสอบสารพิษปลาปักเป้า

กรมวิทย์เจ๋งผลิตชุดทดสอบสารพิษจากปลาปักเป้า-แมงดาทะเล สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก  ทราบผลไม่เกิน 30 นาที

ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลสำเร็จในการผลิตชุดทดสอบสารพิษจากปลาปักเป้าและแมงดาถ้วย เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและของโลก โดยดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนยังมีความเสี่ยงในการรับประทานปลาปักเป้า และไข่แมงดาถ้วยซึ่งใน แต่ละปีจะพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการได้รับสารพิษเตโตรท็อกซินจากปลาปักเป้าและแมงดาถ้วยโดยเฉพาะแมงดาถ้วยจะมีพิษมากในช่วงเดือนก.พ.-มิ.ย.ซึ่งพิษดังกล่าวมีผล ต่อระบบประสาทที่ควบคุมการหายใจผู้ที่ได้รับพิษจะเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มือและเท้า ไม่มีแรง หายใจไม่ออกกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจเป็นอัมพาต หากรับประทานในปริมาณมากทำให้เสียชีวิตดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ผลิต ชุดทดสอบชุดแรกที่ใช้ตรวจสอบสารพิษเตโตรท็อกซิน ซึ่งเป็นชุดที่ใช้ง่ายเห็นผลเร็ว มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง

 ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยมีปลาปักเป้าประมาณ 20 ชนิด
 
มีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษสำหรับปลาปักเป้าชนิดมีพิษสารพิษจะอยู่ในไข่ปลา ตับ ลำไส้ ผิวหนังส่วนแมงดาทะเลในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือแมงดาจานหรือแมงดาทะเลหางเหลี่ยมมีขนาดใหญ่ และแมงดาถ้วย หรือแมงดาหางกลม ซึ่งแมงดาถ้วยจะมีสารพิษชนิดเดียวกับปลาปักเป้าโดยพิษดังกล่าวจะอยู่ในไข่ของแมงดา สำหรับสารพิษเตโตรท็อกซินจะทนต่อความร้อนสูงมาก การทำให้สุกจึงไม่สามารถทำลายพิษได้และปัจจุบันยังไม่มียาแก้สารพิษดังกล่าว ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อปลาปักเป้าและไข่แมงดาทะเล เพราะอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษดังกล่าว

นพ.สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่าชุดทดสอบสารพิษเตโตรท็อกซิน เป็นการคิดค้นโดย ดร.อารี ทัตติยพงศ์

จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และคณะ ซึ่งได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของชุดทดสอบร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4(สมุทรสงคราม) พบว่าชุดทดสอบสารพิษเตโตรท็อกซิน มีความไว 100 % และความจำเพาะ 80 %ขณะนี้มีวางจำหน่ายแล้วที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า 

นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินประสิทธิภาพเครื่องมือในการตรวจสอบปลาปักเป้า ซึ่งขณะนี้มีเครื่องมือในการตรวจสอบทั้งหมด 3 ชนิดได้แก่ ชุดทดสอบสารพิษเตโตรท็อกซินของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิธีพีซีอาร์สำหรับตรวจสารพันธุกรรมของปลาปักเป้า ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิธีวิเคราะห์ปลาปักเป้าจากการดูลายมัดกล้ามเนื้อด้วยตาเปล่าของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้ทราบถึงข้อดี ข้อจำกัดของแต่ละเครื่องมือเพื่อให้ผู้บริหารใช้ประกอบการตัดสินใจในการพิจารณามาตรการควบคุมปัญหาปลาปักเป้าต่อไป สำหรับชุดทดสอบนี้หากภาคเอกชนสนใจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ ซึ่งสามารถนำไปตรวจการปนเปื้อนสารพิษเตโตรท็อกซินในลูกชิ้นปลา หรือผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนผสม หากมีการปนเปื้อนของสารพิษดังกล่าวจะตรวจพบทันที อย่างไรก็ตามขอเรียนว่าขณะนี้การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาปักเป้าถือว่าผิดกฎหมาย และปัจจุบันมีการลักลอบนำเนื้อปลาปักเป้ามาผลิตอาหารอยู่

ดร.อารี ทัตติยพงศ์ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ได้เริ่มทำการทำชุดทดสอบตั้งแต่ปี 2549 แล้วเสร็จในปี 2551
 
ก่อนที่จะนำไปทดสอบภาคสนามอีก 2 ปีจนสำเร็จ และผลิตชุดทดสอบเป็นผลสำเร็จ โดยตกราคาอันละ 120 บาท 1 กล่องมี 10 อันราคา 1,200 บาท ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในโลกที่ผลิตได้ โดยชุดทดสอบใหม่นี้ใช้เวลาตรวจหาสารพิษเตโตรท็อกซินโดยทราบผลในเวลาไม่เกิน 30 นาที โดยเริ่มจากนำตัวอย่างปลามาบดให้ละเอียด นำเนื้อปลา 2 กรัมมาผสมกับกรดอะเซติก 8 มิลลิลิตร นำไปต้มในน้ำเดือด 10 นาที เขย่าเป็นครั้งคราว ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น จะพบว่าส่วนใสอยู่ข้างบน นำหลอดดูดส่วนบนของสารสกัด แล้วหยดลงในหลุมชุดทดสอบ หากมีพิษชุดทดสอบจะปรากฏผล 1 ขีด แต่ถ้าไม่มีพิษจะขึ้น 2 ขีด ได้ผลเร็วกว่าการตรวจแบบเดิมที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงทำให้วันหนึ่งสามารถตรวจตัวอย่างได้ไม่ถึง 10 ตัวอย่าง แต่ชุดทดสอบแบบใหม่สามารถตรวจได้นับ 100 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามชุดทดสอบนี้เหมาะสำหรับหน่วยงานนำไปใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าที่จะประชาชนจะนำไปใช้เอง

น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะกุล ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าเรือประมงที่ออกหาปลาจะมีปลาปักเป้าติดมาวันละประมาณ 100-150 ตัน แต่ปลาเหล่านี้ผิดกฎหมายไม่สามารถนำมาทำอาหารได้ ส่วนหนึ่งจึงถูกนำไปทำอาหารสัตว์.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์