นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน และทรรศนะเกี่ยวกับเศรษฐกิจและมาตรการปัจจุบันว่า การจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 54 ประเมินมีเงินสะพัดกว่า 39,141 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่เม็ดเงินสะพัด 36,263 ล้านบาท ประมาณ 7.94% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจมาในปี 49 ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคและความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ปกติ
“การใช้จ่ายในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ คึกคักมากสุดเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา โดยมียอดใช้จ่ายสูงใกล้เคียงกับการเติบโตของจีดีพี ซึ่งเป็นผลจากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาพืชผลการเกษตรสูงขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้คึกคัก แต่ก็ยังระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่”
สำหรับการใช้จ่ายแยกรายบุคคลพบประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้จ่ายเพื่อซื้อของเซ่นไหว้มากที่สุด 69.1% ตกเฉลี่ยคนละ 2,853 บาท
รองลงมาเป็นทำบุญ 66.3% เฉลี่ย 1,838 บาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 41.7% เฉลี่ย 3,294 บาท ให้แต๊ะเอีย 30.5% เฉลี่ย 3,028 บาท ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 30.5% เฉลี่ย 6,853 บาท ส่วนที่เหลือเป็นการใช้จ่ายในการเดินห้าง จัดเลี้ยงสังสรรค์ ซื้อเสื้อผ้า สินค้าคงทน ดูหนัง โดยมีรูปแบบการใช้จ่ายใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
ตรุษจีนเงินสะพัด4หมื่นล.
ส่วนทรรศนะเกี่ยวกับราคาสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 54 กลุ่มตัวอย่างกว่า 80% เห็นว่าราคาสินค้าแพงขึ้น
และผู้บริโภคกว่า 49.8% เป็นห่วงเรื่องราคาสินค้าแพงมากที่สุด โดยเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายกับปีก่อนกลุ่มตัวอย่าง 42.6% เห็นว่าปีนี้จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าแพง มากกว่าการเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มผู้ตอบใช้จ่ายลดลง 22.4% เพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจ และรายได้แย่ลง
ด้านการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวปีนี้ คนส่วนใหญ่ 69.5% ไม่มีการวางแผนท่องเที่ยว และอีก 30.5% มีแผนท่องเที่ยว
แบ่งเป็นเที่ยวในประเทศ 81.3% และเที่ยวต่างประเทศ 18.7% โดยปีนี้คนมีการเดินทางเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย เพราะช่วงตรุษจีนไม่ได้ตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ สำหรับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พระนคร ศรีอยุธยา ส่วนต่างประเทศ ได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทรรศนะเกี่ยวกับเศรษฐกิจและมาตรการของภาครัฐในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่าง 28.8%
เห็นว่ามาตรการควบคุมราคาสินค้าของรัฐบาลไม่ได้ผลเลย เพราะราคาสินค้ายังเพิ่มขึ้นมาก และคนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า ราคาสินค้าจะแพงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากราคาน้ำมันปรับตัวสูง วัตถุดิบผลิตสินค้าแพงขึ้น รัฐบาลไม่ควบคุม และยังมีประชาชนมากถึง 38% ไม่สามารถแบกรับภาระสินค้าแพงได้ ต้องหันมากู้ยืมเงินนอกระบบแทน
ขณะที่มาตรการ 9 ข้อที่รัฐบาลให้เป็นของขวัญปีใหม่ มาตรการที่คนชื่นชอบมากที่สุด ได้แก่ มาตรการให้ผู้ที่ใช้ไฟต่ำกว่า 90 หน่วยใช้ไฟฟรีถาวร
มาตรการให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ระบบประกันสังคมเข้ามาอยู่ในระบบ และมาตรการตรึงราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง ส่วนมาตรการที่ไม่เห็นด้วยเลยคือการขายไข่แบบชั่งกิโลกรัมติดลบถึง 9.2 คะแนนจากเต็ม 10 รวมทั้งยังไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลปรับเพิ่มราคาน้ำมันปาล์มถึงลิตรละ 9 บาท เพราะเพิ่มสูงเกินไป
“ธปท. ควรชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ออกไปก่อนเพื่อลดต้นทุนสินค้า เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในตอนนี้มาจากการที่ข้าวของราคาแพง ไม่ได้มาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น และเห็นด้วยให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปถึงเดือน มี.ค.แต่หลังจากนั้นควรทยอยขึ้นเป็น 31-32 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ใช้งบประมาณแทรกแซงมากเกินไป”.