ยาฆ่าแมลงตัวการอียูแบนผักไทย 22ชนิดอันตรายขายเกลื่อนเมือง!


           เปิดเบื้องลึก กรมวิชาการเกษตรห้ามส่งออกผัก หลังยุโรปตรวจพบยาฆ่าแมลงต้องห้ามตกค้างเพียบ จนถึงขั้นให้ด่านนำเข้าทุกแห่งตรวจหายาฆ่าแมลงอันตรายร้ายแรง 22 ชนิด มีทั้งยี่ห้อดัง "ฟูราดาน-ตันโจดริน-แรนดอม-อีพีเอ็น" ขายเกลื่อนเมืองไทย ข้องใจกรมวิชาการเกษตรทำไมไม่สั่งแบนยาฆ่าแมลงที่สหรัฐ-อียูเลิกใช้แล้ว เหล่านี้


การห้ามส่งออกพืชผักจำนวน 5 กลุ่มโดยสมัครใจจากการประกาศของกรมวิชาการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาสหภาพยุโรปเตรียมที่จะห้ามนำเข้าผักไทย ประกอบไปด้วย

กลุ่มที่ 1 กะเพรา-โหระพา-แมงลัก-ยี่หร่า
กลุ่มที่ 2 พริก
กลุ่มที่ 3 มะระจีน-มะระขี้นก
กลุ่มที่ 4 มะเขือเปราะ-มะเขือยาว-มะเขือม่วง-มะเขือขื่น
และกลุ่มที่ 5 ผักชีฝรั่ง

กำลังกลายเป็นเรื่องบานปลาย เมื่อตรวจพบว่าพืชผักเหล่านี้มีการใช้ยาฆ่าแมลงที่สหภาพยุโรปห้ามใช้ แต่กลับมีการวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า สหภาพยุโรปได้จับตามองการนำเข้าพืชผักทั้งผักสด-แช่เย็น/แช่แข็งจากประเทศ ไทยมาตลอดปี 2553 โดยในเดือนมีนาคม 2553 ได้ออกระเบียบเพิ่มเติมการตรวจหายาฆ่าแมลงตกค้างในผักที่นำเข้าจากไทย 3 ประเภทหลักในกลุ่มผักตระกูลถั่ว (Beans)-มะเขือ (Aubergines)-กะหล่ำ (Brassica Vegetables) ไว้ใน Commission Regulation (EC) No.212/2010 ด้วยการระบุชนิดของยาฆ่าแมลง 22 ชนิด ที่ด่านนำเข้าจะต้องสุ่มตรวจผักจากไทย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการระบุชนิดของยาฆ่าแมลงเหล่านี้มาก่อน


ต่อมาใน เดือนตุลาคม สหภาพยุโรปก็ได้มีการทบทวนกฎระเบียบ EC Regulation 669/2009 เป็นการแก้ไขภาคผนวกที่ 1 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยด้วยการกำหนดมาตรการตรวจสอบผักที่เข้มงวดมาก ยิ่งขึ้นอีก 3 มาตรการ ได้แก่


1)ให้คงมาตรการตรวจเข้มหายาฆ่าแมลงตกค้างในผัก 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มมะเขือ-กลุ่มกะหล่ำ-ถั่วฝักยาว ในระดับ 50%

2)การขยายมาตรการตรวจเข้มหายาฆ่าแมลงตกค้างในผักอีก 2 ประเภท ได้แก่ กะเพรา-โหระพา ในรูปผักสดที่ระดับ 20%

และ 3)ขยายมาตรการตรวจเข้มในการหาเชื้อซัลโมแนลลา ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในผักไทย 3 ประเภท ได้แก่ ใบผักชี-กะเพรา-โหระพา-สะระแหน่ ที่ระดับ 10%


พอมาถึงเดือน พฤศจิกายน 2553 สหภาพยุโรปได้ทบทวนประกาศ EC Regulation 669/2009 อีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ยังคงยืนยันที่จะคงมาตรการตรวจหายาฆ่าแมลงตกค้างอย่างเข้มงวดในผักที่นำ เข้าจากประเทศไทยต่อไปอีก


"ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าสหภาพยุโรปให้ ความสำคัญกับกรณีที่ผักไทยมียาฆ่าแมลงต้องห้ามตกค้างเป็นอันดับ 1 ขณะที่ให้ความสำคัญกับเชื้อซัลโมแนลลากับแมลงศัตรูพืชเป็นอันดับรอง ๆ ลงไป ซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามออกข่าวว่า การห้ามส่งออกผักทั้ง 5 กลุ่มไปสหภาพยุโรปโดยสมัครใจ เป็นผลมาจากการตรวจพบแมลงศัตรูพืชในพืชผักเหล่านั้น"


อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบกลุ่มยาฆ่าแมลงทั้ง 22 ชนิด ที่สหภาพยุโรปสั่งให้ด่านนำเข้าทุกด่านตรวจผักที่นำเข้าจากประเทศไทยอย่าง เข้มงวดนั้น พบว่ามีถึง 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (Carbofuran), เมโทมิล (Methomyl), ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) และอีพีเอ็น (EPN) ตรงกับบัญชีรายชื่อยาฆ่าแมลง 11 ชนิด ที่กรมวิชาการเกษตรขึ้นบัญชีจับตามองเป็นพิเศษ (Watch List) อยู่ใน

กลุ่มเฝ้าระวัง เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้เป็นสารในกลุ่ม Ia (พิษร้ายแรงมาก) กับ Ib (พิษร้ายแรง) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งโดยตรง




โดยสารคาร์โบฟูราน ส่วนใหญ่ถูกตรวจพบในถั่วฝักยาว เพื่อใช้กำจัดหนอนแมลงวันเจาะต้นกิ่ง สารโพรไทโอฟอส (Prothiofos) แม้ไม่อยู่ในบัญชี Watch List ของฝ่ายไทย แต่สหภาพยุโรปห้ามใช้สำหรับผักนำเข้า

(1 ใน 22 ชนิด) จัดเป็นยาฆ่าแมลงที่เกษตรกรไทยนิยมใช้อย่างกว้างขวางในการฆ่าหนอนใยผัก-หนอน เจาะมะเขือ-เพลี้ยไฟฝ้ายในผักจำพวกกะหล่ำ-มะเขือ ที่กรมวิชาการเกษตรห้ามส่งออกไปสหภาพยุโรปอยู่ในขณะนี้


"สารเคมีที่นำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงเหล่านี้ ทั้งสหภาพยุโรป-สหรัฐออกประกาศห้ามใช้ภายในประเทศทั้งสิ้น และยังครอบคลุมไปถึงห้ามนำเข้าพืชผักที่มีสารเหล่านี้ตกค้างอยู่ เพราะถือเป็นสารพิษร้ายแรงต่อผู้บริโภค ซึ่งในความเป็นจริง กรมวิชาการเกษตรก็ทราบดี เพราะมีการนำสารเคมีฆ่าแมลงเหล่านี้ (11 ชนิด) ไปไว้ในกลุ่มเฝ้าระวัง เป็นสารพิษร้ายแรง แต่กลับไม่ยอมประกาศห้ามใช้-ห้ามนำเข้า ทุกวันนี้เกษตรกรสามารถซื้อยาฆ่าแมลงเหล่านี้ได้ทั่วไปตามท้องตลาด ภายใต้ชื่อการค้าหลากหลาย (ตารางประกอบ) สุดท้ายผลของการใช้ก็ย้อนกลับมายังผู้บริโภคโดยตรง" ผู้ประกอบการค้าสารเคมีเกษตรนอกกลุ่ม 11 กล่าว


สำหรับการแก้ไขปัญหาการห้ามนำเข้าผัก 5 กลุ่มโดยสมัครใจ (มีผล 1 กุมภาพันธ์ 2554) นั้น ล่าสุดสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย ได้เรียกสมาชิกเข้าร่วมประชุมด่วน เพื่อพิจารณาผลกระทบจากกรณีดังกล่าวใน สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานกรรมการ บริษัท กำแพงแสน คอมเมอร์เชียล จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สมาคมมีมติร่วมกัน 3 แนวทาง คือ


1)ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรม วิชาการเกษตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ภาครัฐช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบแมลงศัตรูพืชใน สินค้าผักที่เตรียมส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป เพราะหลังจากกรมวิชาการเกษตรประกาศใช้นโยบายตรวจสอบสุขอนามัยพืชอย่างเข้ม งวด ทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทางสมาคมเกรงว่าผู้ส่งออกบางรายอาจลดหย่อนมาตรฐานการตรวจสอบเพื่อหลบเลี่ยง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้แผนการปรับปรุงแก้ไขปัญหาสุขอนามัยพืชสินค้าผักไทยไปขายในตลาดอี ยูไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ


2)เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร ไปตรวจสอบฉลากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในแปลงปลูกผักว่า ผู้ผลิตสารเคมีได้ให้คำแนะนำการใช้งานอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ เพราะการตรวจสอบ

ในเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรบางรายปฏิบัติตามฉลากแนะนำข้างขวดแล้ว เมื่อครบเวลาเก็บเกี่ยวก็ยังเจอแมลงศัตรูพืชตกค้างในผักเช่นเดิม จึงอยากให้กรมวิชาการเกษตรไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการเร่งด่วน


และ 3)ขอให้กรมวิชาการเกษตรจัดพื้นที่ Export Zone ปลูกพืชผักส่งออกโดยเฉพาะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการด้านมาตรการสุขอนามัยพืชผักอย่างเป็นระบบ ตามความต้องการของสหภาพยุโรป


        "ผมเกรงว่าผู้บริโภคในสหภาพยุโรปจะได้ รับข่าวสารที่คลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดมากขึ้นว่า พืชผักของไทยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงอย่างรุนแรง สร้างผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของสินค้าไทยอย่างมาก ที่สำคัญยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์ครัวไทยสู่ครัวโลก เสี่ยงทำให้ผู้นำเข้าบางรายชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากไทย ทำให้ร้านอาหารไทยกว่า 1,000-2,000 แห่ง ในตลาดสหภาพยุโรป ประสบปัญหาขาดแคลนผักสดที่จะนำไปผลิตเป็นอาหารไทย" นายชูศักดิ์กล่าว


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์