ปาล์มส่อขาดแคลนยาว หลังโรงงานไทย เมินซื้อโควตานำเข้า 3 หมื่นตัน ด้าน อคส. ไม่ง้อ เล็งชง”พรทิวา”ไฟเขียวนำเข้าขายเอง
นายอนุกูล แต้มประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) เปิดเผยความคืบหน้าการนำเข้าน้ำมันปาล์ม 3 หมื่นตัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนว่า ในวันที่ 18 ม.ค.นี้จะเสนอคณะกรรมการตรวจสอบ กำกับดูแล และแก้ไข น้ำมันพืชเพื่อการบริโภค ที่แต่งตั้งโดยนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ อคส.นำเข้าน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปมาบรรจุใส่ขวดหรือถุง ขายปลีกแก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดขึ้นตอนและต้นทุนปาล์มนำเข้า ให้สามารถขายปลีกได้ในราคาไม่เกินเพดานควบคุมลิตรละ 47 บาท
“สาเหตุที่ต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มสำเร็จรูป เนื่องจากหลังรัฐบาล มีมติให้อคส.นำเข้า ก็ออกประกาศให้ผู้ขายจากมาเลเซียและอินโดนีเซียเสนอราคาขายน้ำมันปาล์มดิบกึ่งบริสุทธิ์ ปรากฏว่าราคาเสนอขายค่อนข้างสูงถึงกก.ละ 39-40 บาท เมื่อบวกกับค่าขนส่ง สกัด และบรรจุ ก็เกินราคาควบคุมลิตรละ 47 บาท เป็น 49-50 บาท ทำให้ไม่จูงใจให้เอกชนในประเทศนำเข้า และถึงขณะนี้มีภาคเอกชนสนใจต้องการนำเข้าน้ำมันปาล์มกับอคส.เพียง 10 ราย ทั้งๆที่มีบริษัทผลิตถึง 30 ราย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 17 ม.ค.นี้จะมีการเปิดซองเสนอราคาขายน้ำมันปาล์มนำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ซึ่งเบื้องต้นมีการเสนอซื้อขายมาเพียง 3 ราย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก เพราะหากน้ำมันปาล์มขาดแคลนจริง บริษัทน่าจะแย่งกันขอซื้อมากกว่านี้ ที่สำคัญในการตรวจสอบปริมาณปาล์มในภาคใต้ ก็พบความผิดปกติในบริษัทตัวแทนขายปาล์มบางราย ที่ไม่พบปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน และราคาแพง อาจจะไม่คลี่คลายในเดือน ม.ค.อย่างที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ เนื่องจากไม่มีผู้ผลิตยอมนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ มาผลิตบรรจุขวดขาย
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งเพิ่มว่า นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เตรียมเป็นประธานประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อต่ออายุมาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในบัญชีสินค้าควบคุม และทบทวนบัญชีรายการสินค้าควบคุมทั้ง 39 รายการใหม่ทั้งหมด เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้จะพิจารณาเพิ่มเติมบัญชีสินค้าติดตามดูแล 202 รายการ
โดยคาดว่าจะเพิ่มรายการสินค้าเข้าไปในบัญชีติดตามดูแลอีก 2-3 รายการ ได้แก่ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่ หมู และไก่ไข่ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดูแลสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน